วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงินได้

เรื่อง :การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงินได้
คำถาม :บุคคลธรรมดามีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย กรณีใดบ้าง การจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และผู้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ หมายถึงใครบ้าง
คำตอบ :          บุคคลธรรมดามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้
          1. มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(1)(2)(3)(5)(6) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทยหรือเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ และ มาตรา 40(4)(ก)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในไทย
          2. มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1
          3. มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในไทย
          4. ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
              (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิตบุคคลเฉพาะที่เป็นรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5
              (2) นักแสดงสาธารณะ
                    (ก) กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็น นักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในไทย โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พ.ศ.2544 หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10
                    (ข) กรณีนอกจาก (ก) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5
          5. ตามข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ เนื่องจากอธิบดีฯ ยังไม่กำหนดวันใช้บังคับ ดังนั้น ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
          6. ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ที่จ่ายเงินได้เป็นค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบกิจการในไทย โดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5         
          ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ได้แก่บุคคลที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (1) ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
               (2) ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร 
               (3) เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้รับอันเนื่องมาจาก การแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งดำเนินการสร้าง โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 ตามข้อ 2(84) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 289 (พ.ศ.2555))

วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคลใช้ได้

เรื่อง :หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคลใช้ได้
คำถาม :บริษัทได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้ออกมิได้ประทับตรานิติบุคคลทั้งๆ ที่มีตราประทับนิติบุคคล บริษัทจะนำมาใช้ได้หรือไม่
คำตอบ :          สามารถใช้ได้ เนื่องจาก ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในบรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น มิได้บัญญัติให้ประทับตรานิติบุคคล ส่วนการลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ขายสินค้าต่ำกว่าทุน

http://www.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9500000023186

Tax Knowledge:ขายสินค้าต่ำกว่าทุน
26 กุมภาพันธ์ 2550 15:24 น.
       การประกอบธุรกิจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากจะต้องนำรายได้มาคำนวณกำไรสุทธิแล้วก็ต้องนำรายจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธิด้วย ซึ่งรายได้และรายจ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิ 
      
       โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ในกรณีจำเป็นผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิและวิธีการทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
      
       ในการนำรายได้หรือรายจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธินั้นจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินได้มีการคิดค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยหรือไม่ หรือหากมีการคิดค่าตอบแทนแต่ต่ำกว่าท้องตลาดหรือไม่ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน โดยกำหนดไว้ดังนี้
      
        "ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน"
      
        ดังนั้นหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่คิดค่าตอบแทน หรือคิดแต่ต่ำกว่าตลาดเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน ธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการเมื่อมีการดำเนินธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการมักจะมีการกำหนดราคาขายสินค้าหรือให้บริการตามใบราคา (Price List) ซึ่งอาจจะแยกเป็นราคาขายปลีก ขายส่ง ขายผ่านตัวแทน ที่มีราคาขายหรือให้บริการไม่เท่ากัน
      
       แต่มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดอัตราในการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าแต่ละราย ที่ผู้ประกอบการสามารถให้ส่วนลดแก่ลูกค้าได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินหากขายสินค้าหรือให้บริการต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันไม่สมควร อะไรคือเหตุอันสมควร
      
       องค์ประกอบของ "เหตุอันสมควร" จะมีดังนี้
      
       1) ต้องมีเหตุผลทางธุรกิจการค้าสนับสนุนอย่างเพียงพอ
      
       2) ต้องไม่เลือกปฏิบัติกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
      
        บริษัทแห่งหนึ่งประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องเสียงติดรถยนต์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ลำโพง เครื่องเสียง (พาวเวอร์แอมป์) จอภาพขนาดเล็ก อะไหล่เกี่ยวกับเครื่องเสียง เป็นต้น บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจอภาพขนาด 7 นิ้ว จากบริษัท ก จำกัด บริษัทจึงได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัท ข จำกัด และบริษัท ค จำกัด รวมจำนวน 760 ชิ้น เพื่อจะนำมาส่งมอบให้กับบริษัท ก แต่เนื่องจากแผนการตลาดของบริษัท ก เปลี่ยนแปลงไปจึงได้ปฏิเสธการสั่งซื้อสินค้าเป็นเหตุให้บริษัทมีสินค้าคงเหลือค้างสต็อกจำนวน 359 ชิ้น
      
       บริษัทจึงได้ติดต่อขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท (ราคาซื้อหรือราคาต้นทุนชิ้นละ 11,300 บาท) จำนวน 350 ชิ้น เพราะสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว สินค้าที่ขายมีราคาตลาดชิ้นละ 4,200-5,000 บาท นอกจากนี้ บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท ค ราคาชิ้นละ 40 เหรียญสหรัฐ เป็นเงินประมาณ 1,261,160 บาท
      
       เนื่องจากเมื่อบริษัทได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ข และบริษัท ค บริษัททั้งสองได้ผลิตสินค้าเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่บริษัท ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้สั่งทำและนำเข้ามาเพื่อขายให้กับบริษัทโดยตรงไม่สามารถนำไปขายที่อื่นได้ โดยสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญาในกรณีดังกล่าว
      
       การที่บริษัทได้ขายจอภาพติดรถยนต์ขนาด 7 นิ้ว ให้กับบริษัทในเครือเดียวกันอยู่ในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาทุนและราคาตลาด โดยอ้างว่าสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว เข้าลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาด และคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาดตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
      
       เนื่องจากสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงระหว่างบริษัทและบริษัท ค ในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญา ในกรณีดังกล่าวบริษัทจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามข้อตกลงซึ่งได้กระทำนอกเหนือจากสัญญาให้บริษัท ค. การจ่ายเงินชดเชยของบริษัทจึงเป็นการกระทำโดยสมัครใจของบริษัท ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และกรณีที่บริษัทได้ขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันซึ่งอยู่ในต่างประเทศ โดยบริษัทได้ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศ บริษัทจะได้รับสิทธิ์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
      
        ดังนั้นการที่บริษัทได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาดยกเว้นมีเหตุอันสมควร มิฉะนั้นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การโอนทรัพย์สินเข้าบริษัทกับประโยชน์ทางภาษี

https://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9600000054296

การโอนทรัพย์สินเข้าบริษัทกับประโยชน์ทางภาษี :ใครได้ใครเสีย Swap of Assets into a Company : Who Gains, Who Loses

        โดย - ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
       
       ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารชุด เพื่อให้เช่าหรือเพื่อขายมักจะถือครองอสังหาริมทรัพย์ในนามส่วนตัว และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรืออาคารชุดก็มักจะใช้ชื่อบุคคลธรรมดาในการซื้อขาย ซึ่งการขายอสังหาริมทรัพย์โดยบุคคลธรรมดานี้มักจะมีภาระภาษีและค่าธรรมเนียมในการขายต่อให้แก่บุคคลภายนอกที่น้อยกว่าการขายโดยบริษัท
       ทั้งนี้ เนื่องจากในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดให้บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากราคาประเมินของทางราชการโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายจริงหรือราคาตลาด และบุคคลธรรมดายังอาจได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งจัดเก็บในอัตรา 3.3% ของราคาขาย หากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายอีกด้วย
       ตรงกันข้ามกับกรณีที่บริษัทเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามราคาและกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากการขาย และยังต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุที่มักมีการถือครองและซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในนามบุคคลธรรมดา
       อย่างไรก็ดี เจ้าของธุรกิจหลายรายก็นำอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในนามส่วนตัวมาให้เช่ากับบริษัทของตนเองซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีการคิดค่าเช่าระหว่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับธุรกิจ แต่บุคคลส่วนใหญ่มักจะนำทรัพย์สินส่วนตัวนี้ไปปะปนกับธุรกิจและมักจะไม่คิดค่าเช่าจากบริษัทที่ทำธุรกิจเพราะคิดว่าเป็นกระเป๋าเดียวกัน ทำให้หน่วยงานราชการตรวจสอบภาษีบุคคลธรรมดาได้ยาก ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่มีการออกกฎหมายภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ จะเริ่มทำให้มีการปรับโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินโดยใช้บริษัทเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน
       ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือที่ดินแทนบุคคลธรรมดา แต่ก็ยังคงมีการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาให้แก่บริษัทไม่มากนัก เนื่องจากการโอนทรัพย์สินดังกล่าวจะมีภาระภาษีและค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง
       ปัจจุบัน รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้มากขึ้น แต่เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้กับนิติบุคคลนั้นอาจมีภาระภาษีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลโดยกรมสรรพากรและกระทรวงมหาดไทย จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นรัษฎากรฉบับที่ 630 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร และประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ รวมถึงลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมในการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดลงเหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจในการจะโอนทรัพย์สินเข้าบริษัทต่อไป
       ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการโอนทรัพย์สิน (ซึ่งรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างซึ่งรวมถึงที่ดิน สินค้า หุ้น ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า) ให้แก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น มีรายละเอียดดังนี้
       1. การโอนทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องเป็นการโอนโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กล่าวคือ เป็นการโอนเพื่อชำระค่าหุ้นด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากเงินสด เช่น ที่ดิน หุ้น หรือ สินค้า ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
       2. การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลผู้รับโอนทรัพย์สินและการโอนทรัพย์สินจะต้องกระทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
       3. การโอนทรัพย์สินเพื่อแลกกับหุ้นดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม
       พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 630 โดยมีรายละเอียดดังนี้
       3.1 ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามราคาตลาดจากบุคคลธรรมดาให้แก่บริษัทที่จัดตั้งใหม่ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
       3.2 บุคคลธรรมดาผู้โอนต้องถือหุ้นในนิติบุคคลที่รับโอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอนบุคคลผู้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับโอนทรัพย์สินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอน (กล่าวคือ บุคคลผู้โอนทรัพย์สินจะได้รับหุ้นเป็นจำนวนเท่ากับราคาตลาดของทรัพย์สินที่โอน)
       3.3 บุคคลธรรมดาจะต้องไม่โอนหุ้นของบริษัทอันเกิดจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่บริษัทในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
       3.4 กรณีโอนอสังหาริมทรัพย์ บุคคลผู้โอนและนิติบุคคลผู้รับโอนจะต้องร่วมกันทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัท โดยมีข้อความอย่างน้อยตามเอกสารแนบท้ายของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และบุคคลผู้โอนจะต้องยื่นหนังสือรับรองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านกรมสรรพากรพื้นที่ ของท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนา หรือที่ตั้งสถานประกอบการของผู้โอน หรือในเขตที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
       4. สิทธิประโยชน์ดังกล่าวนี้ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่ผู้โอนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล (ซึ่งผู้ประกอบการต้องดูข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4))
       นอกจากนี้ มาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว ยังได้อนุญาตให้นิติบุคคลผู้รับโอนทรัพย์สิน ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาทและมีรายได้ไม่เกิน 30,000,000 บาทในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มีสิทธิหักรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าเป็นเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน นับแต่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายจากการจัดตั้งนิติบุคคลซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ได้และได้มีการรับรองโดยหุ้นส่วนผู้จัดการหรือมีการให้สัตยาบันโดยที่ประชุมจัดตั้งบริษัท รวมถึงค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
       สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายฉบับนี้ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว โดยการโอนที่ดิน สินค้า หรือหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในนามส่วนตัวจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ส่วนการโอนอสังหาริมทรัพย์จะได้รับสิทธิลดอัตราค่าธรรมเนียมโอนที่ดินเหลือเพียงอัตราร้อยละ 0.01 ทั้งนี้ การโอนทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์จะต้องโอนในราคาตลาด
       สำหรับผู้ที่ในปัจจุบันยังไม่ได้ประกอบธุรกิจ แต่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีไว้ให้เช่าหรือใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ผมมีข้อพิจารณาว่าสมควรจะโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระเป็นค่าหุ้นในบริษัทหรือไม่ ดังนี้
       1. ในกรณีที่ท่านมีความประสงค์จะขายอสังหาริมทรัพย์ต่อไปในอนาคต การโอนในราคาตลาดเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะช่วยเพิ่มต้นทุนหรือมูลค่าหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นให้สะท้อนราคาตลาด ในอนาคตถ้าจะขายสูงกว่าราคาตลาดที่โอนก็จะมีกำไรที่ต้องเสียภาษีน้อยลง เพราะต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจากการโอนให้แก่บริษัทแล้ว (Step up cost) ซึ่งผู้โอนก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่คนที่เสียประโยชน์ก็คือรัฐบาลที่ไม่อาจจะเก็บภาษีจากการขายหุ้นหรือขายทรัพย์สินในอนาคตได้
       2. ปัจจุบัน ถ้าท่านทำธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ การเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดาจะมีภาระภาษีที่มากกว่าการเสียภาษีในนามนิติบุคคล เนื่องจาก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับร้อยละ 20 เมื่อบวกกับ ภาษีเงินปันผลอีกร้อยละ 10 จะได้อัตราภาษีเงินได้สุทธิเพียงร้อยละ 28 ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึงร้อยละ 35 นอกจากนี้ นิติบุคคลยังสามารถหักรายจ่ายได้มากกว่าบุคคลธรรมดาอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาษีทรัพย์สิน ทั้งนี้ แม้การให้เช่าโดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอาจเสียภาษีทรัพย์สินในอัตราที่เท่ากันโดยถือว่าเป็นการถือครองอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือนิติบุคคลสามารถนำภาษีทรัพย์สินไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่บุคคลธรรมดาจะไม่สามารถนำภาษีทรัพย์สินมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้
       3. ส่วนท่านที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ แต่มีที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหรืออาคารชุด หากจะโอนที่ดิน บ้าน หรืออาคารชุดเข้าบริษัทก็จะมีต้นทุนในการทำบัญชียื่นงบดุล และเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในรูปบริษัท และยังอาจมีโอกาสที่จะต้องเสียภาษีทรัพย์สินแบบพาณิชยกรรมในอัตราที่สูงกว่าบ้านที่อยู่อาศัย แต่หากท่านมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ลูกหลานขายทรัพย์สินเหล่านี้เวลาท่านไม่อยู่แล้ว การโอนที่ดิน บ้าน หรืออาคารชุดเข้าบริษัทก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการห้ามขายทรัพย์สินหรือขายหุ้นในบริษัทที่ถือครองทรัพย์สินได้โดยผ่านข้อบังคับของบริษัท ดังนั้น ท่านควรจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ
       4. การโอนที่ดินหรือทรัพย์สินต่างๆ เพื่อแลกหุ้นของบริษัทในราคาตลาดนั้นจะต้องมีการจัดทำรายงานของผู้ประเมินราคาอิสระหรือผู้ประเมินราคาที่ กลต. รับรอง เพื่อบันทึกไว้ในรายงานการประชุมตั้งบริษัทด้วย เอกสารต่างๆ จึงจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง
       5. เมื่อได้มีการโอนที่ดินเข้าบริษัทแล้ว หากท่านยังมีบริษัทที่ถือครองที่ดินอีกหลายบริษัท ในอนาคตก็สามารถควบบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกันได้โดยไม่มีภาระภาษีทั้งในระดับผู้ถือหุ้นและบริษัท อีกทั้ง ยังไม่มีค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน กรณีดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกในการประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไปได้ในอนาคต
       6. นอกจากการขายที่ดินในราคาตลาดต่อไปในอนาคตแล้ว เจ้าของบริษัทก็อาจขายหุ้นในบริษัทแทนการขายที่ดินได้ เนื่องจากการขายที่ดินโดยตรงนั้นจะมีต้นทุนของค่าธรรมเนียมในการโอนในอัตราร้อยละ 2 และภาษีธุรกิจเฉพาะอีกในอัตราร้อยละ 3.3 รวมเป็นต้นทุนประมาณร้อยละ 5.3 แต่หากผู้ขายทรัพย์สินนั้นขายหุ้นในบริษัทแทนการขายที่ดิน ก็จะต้องเสียเพียงอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.1
       7. ประโยชน์ที่รัฐบาลอาจจะได้ในอนาคตคือการทราบราคาตลาดของที่ดินส่วนใหญ่ เนื่องจากการโอนที่ดินของบุคคลธรรมดาเพื่อชำระค่าหุ้นให้บริษัทจะทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลเรื่องอัตราราคาตลาดที่แท้จริงซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถปรับปรุงราคาประเมินให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดได้มากขึ้น หากในอนาคตรัฐบาลมีการแก้ไขกฎหมายเรื่องการขายอสังหาริมทรัพย์โดยบุคคลธรรมดาโดยให้ใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์ในการเสียภาษีก็จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลในอนาคต นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทที่ถือครองทรัพย์สินเพื่อให้เช่าจะต้องทำบัญชีรายได้และรายจ่าย รัฐบาลจึงอาจจัดเก็บภาษีเงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้ง่ายขึ้นและเป็นจำนวนมากขึ้น
       8. มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ การโอนชำระค่าหุ้นของบริษัทใหม่นั้น นอกจากอสังหาริมทรัพย์แล้วบุคคลยังสามารถโอนหุ้นหรือสินค้าของตนเพื่อชำระเป็นทุนของบริษัทใหม่ได้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการวางแผนภาษีมรดก โดยการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาให้แก่บริษัทที่ถือครองทรัพย์สินที่เรียกว่าบริษัทโฮลดิ้งหรือบริษัทประกอบการก็ได้ โดยไม่มีต้นทุนทางภาษี
       เวลาที่เหลือนับจากนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นเวลาที่ผู้ประสงค์จะดำเนินการต้องเร่งรีบตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เหมาะสม และหาที่ปรึกษาเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ประเมินราคาและโอนทรัพย์สินให้ทันตามเวลาที่กำหนดเพื่อประโยชน์ในอนาคตครับ

วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การส่งเสริมการขาย

http://www.rd.go.th/publish/40590.0.html
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1247
วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฯ ได้ให้ส่วนลดแก่ลูกค้า โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
          1. บริษัทฯ ได้ขายรถยนต์ ให้กับลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เมื่อลูกค้าได้จองรถยนต์และตกลงราคาซื้อขาย กับบริษัทฯ บริษัทฯ จะจัดทำใบจองรถยนต์ให้แก่ลูกค้าโดยจะระบุชื่อ ที่อยู่ของลูกค้า ประเภทรถยนต์ รุ่น สี ราคาซื้อขาย อุปกรณ์ ของแถม ส่วนลด และเงื่อนไขในการชำระเงิน เช่น ซื้อเงินสดหรือจัดไฟแนนซ์ และลูกค้าต้องชำระเงินจองไว้กับบริษัทฯ ไว้ล่วงหน้า เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท
          2. หากลูกค้าที่มีความประสงค์จะจัดไฟแนนซ์ บริษัทฯ จะส่งชื่อ ที่อยู่และประวัติทางการเงินของลูกค้าพร้อมทั้งราคาซื้อขาย รถยนต์ และจำนวนเงินที่ต้องการจัดไฟแนนซ์ไปให้บริษัทไฟแนนซ์พิจารณาอนุมัติ และเมื่อได้รับการอนุมัติจากบริษัทไฟแนนซ์แล้ว บริษัทฯ จะแจ้งให้ลูกค้าทราบพร้อมทั้งนัดให้ลูกค้ามารับรถยนต์และชำระเงินดาวน์ส่วนที่เหลือให้กับบริษัทฯ เช่น รถยนต์ราคา 560,000 บาท ลูกค้าต้องชำระเงินดาวน์ 10 % ของราคารถยนต์เท่ากับ 56,000 บาท ลูกค้าจัดไฟแนนซ์ (560,000 - 56,000) = 504,000 บาท ในวันจองลูกค้าชำระแล้ว 5,000 บาท คงเหลือเงินดาว์ 56,000 - 5,000 = 51,000 บาท ลูกค้าชำระเงินดาว์ เพียง 41,000 บาท (แต่บริษัทฯ จะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้าเต็มจำนวนเงินดาวน์เท่ากับ 56,000 บาท) ส่วนที่เหลืออีก 10,000 บาท ของเงินดาว์ บริษัทฯ จะจัดเป็นส่วนลดให้แก่ลูกค้า โดยให้ลูกค้าเซ็นต์รับเอกสารใบรับส่วนลดเงินดาวน์ และส่วนลด ที่เป็นส่วนหนึ่งของเงินดาวน์ดังกล่าว ลูกค้าไม่ต้องนำไปให้กับบริษัทไฟแนนซ์ บริษัทฯ ขอทราบว่า เงินส่วนลด จำนวน 10,000 บาท ที่บริษัทฯ ลดให้แก่ลูกค้าที่มาซื้อรถยนต์กับบริษัทฯ นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจาก การส่งเสริมการขายหรือไม่ และเมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกค้าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          การให้ส่วนลดดังกล่าว หากบริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปใช้ใน การประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ส่วนลดเงินดาวน์ที่บริษัทฯ จ่ายให้ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 72/36408
---------------------------------------------------------





วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ใบกำกับภาษีค่าไฟฟ้า

http://www.rd.go.th/publish/39899.0.html
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8523
วันที่: 11 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีค่าไฟฟ้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท อ. ประกอบธุรกิจเคเบิ้ลทีวี ได้ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าบนเสาไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามระยะทางของการพาดสายเคเบิ้ลผ่าน จำนวนหลายจุดและหลายพื้นที่ เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียกเก็บค่าไฟฟ้ามายังบริษัทฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ตามสถานที่ที่มิเตอร์ไฟฟ้าติดตั้ง เนื่องจากเป็นระเบียบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัทฯ ได้หารือว่า บริษัทฯ สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังกล่าว มาถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกให้แก่บริษัทฯ โดยระบุชื่อของบริษัทฯ แต่ที่อยู่ในใบกำกับภาษีเป็นที่อยู่ตามการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าบนเสาไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น เนื่องจากสถานที่ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของสถานประกอบการซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ
เลขตู้: 71/36257
--------------------------------------------------------
http://www.rd.go.th/publish/41084.0.html
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./3602
วันที่: 13 พฤษภาคม 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีค่าไฟฟ้าของสำนักงานชั่วคราวในโครงการจัดสรรที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 85/7 และมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินเพื่อขาย จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 เนื่องจากมีรายได้จากค่าบริการส่วนกลาง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าดูแลบำรุงรักษาพื้นที่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขอเพิ่มสำนักงานสาขา 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโครงการพัฒนา จัดสรรที่ดินเพื่อขาย
          เนื่องจากพื้นที่ของโครงการบางส่วนยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ และบางส่วนขายไปแล้ว บริษัทฯ จึงยังต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางรวมทั้งค่าไฟฟ้าทั้งหมดก่อน แล้วเรียกเก็บจากผู้ใช้ ที่อยู่ในโครงการที่ขายไปแล้ว
          บริษัทฯ มีมิเตอร์ไฟฟ้า 3 แห่ง อยู่ภายในโครงการก่อสร้างเพื่อใช้ร่วมกัน มิเตอร์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นชื่อของบริษัทฯ ทั้งหมด แต่ที่อยู่ของสำนักงานซึ่งระบุในใบกำกับภาษีของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัตหีบ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ) ผู้ให้บริการ แตกต่างกัน 3 ฉบับ ดังนี้ คือ
          1. เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ภายในโครงการก่อสร้าง บริษัทฯ สร้างสำนักงาน ชั่วคราวขึ้นเพื่อรอการขายและใช้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานก่อสร้างระหว่างรอการขาย
          2. เลขที่ 2 หมู่ที่ 6 ซอยเทศบาล 12 ถนนสุขุมวิท กม.166 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 20250 ซึ่งเป็น ที่ตั้งสำนักงานสาขาที่จดทะเบียน
          3. หมู่ที่ 6 ซอยเทศบาล 12 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นมิเตอร์ชั่วคราวระหว่างก่อสร้างที่ตั้งอยู่ที่ดิน ภายในโครงการก่อสร้าง บริษัทฯ สร้างสำนักงานชั่วคราวขึ้นเพื่อรอการขายและใช้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานก่อสร้างระหว่าง รอการขาย
          จำนวนค่าไฟฟ้าที่ทางบริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ใช้ มาจากมิเตอร์ไฟฟ้าที่บริษัทฯ ติดตั้งในที่ดินของบริษัทฯ เพื่อใช้ร่วมกันใน โครงการคือ ไฟถนนในโครงการ และไฟเข้าบ้านแต่ละหลังในโครงการ บริษัทฯ จึงได้บันทึกใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของ สำนักงานใหญ่ และบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บค่าบริการส่วนกลางและนำส่งภาษีขายต่อกรมสรรพากรในนามของ สำนักงานใหญ่
          บริษัทฯ จึงหารือว่า บริษัทฯ สามารถใช้ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อของบริษัทฯ และที่อยู่ของสถานประกอบการสาขาและ สำนักงานชั่วคราวตามที่กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ ออกให้เป็น ภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ได้จดทะเบียนสำนักงานสาขา ย่อมถือได้ว่าสาขาเป็นนิติบุคคลเดียวกันกับสำนักงานใหญ่ สาขาจึงเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดสาขา แต่บริษัทฯ ต้องแจ้งการเปิดสาขาเพิ่มเติมตามมาตรา 85/7 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีที่กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ ออกให้นั้น ระบุชื่อและที่อยู่ของ สำนักงานสาขา ก็ให้ถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานสาขาที่ได้รับใบกำกับภาษี และสามารถนำไปใช้เป็นภาษีซื้อสำหรับสำนักงาน สาขานั้น
          2. กรณีบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีที่กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ ออกให้ โดยระบุชื่อของบริษัทฯ แต่ที่อยู่ในใบกำกับภาษี เป็นที่อยู่ของสำนักงานชั่วคราวที่ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าที่บริษัทฯ ได้ขอติดตั้งในที่ดินของบริษัทฯ เพื่อใช้ร่วมกันในโครงการก่อสร้าง เนื่องจากสำนักงานชั่วคราว ที่ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายของสถานประกอบการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ
เลขตู้: 72/36604
----------------------------------------------------------------------
http://www.rd.go.th/publish/24069.0.html
เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.31981
วันที่: 16 สิงหาคม 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลดสาขาของผู้ประกอบการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(20)
ข้อหารือ: บริษัท A. จำกัด กรณีบริษัทฯ ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการด้านยาม
รักษาความปลอดภัยและศูนย์ธุรกิจในโครงการ A. ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีสถานประกอบการตั้งอยู่ ดังนี้
1. สำนักงานใหญ่ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
2. สาขาที่ 1 สำนักงานถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัด
ปทุมธานี ซึ่งสาขาที่ 1 เป็นสำนักงานประจำโครงการของบริษัทฯ ที่มีพนักงานของบริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่อยู่
เพื่อให้บริการแก่ผู้เช่าทั้งในด้านงานซ่อมบำรุง ดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยใน
โครงการฯ รวมถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเยี่ยมชมโครงการ
3. สาขาที่ 2-36 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จะ
เป็นอาคารทั้งหมดในโครงการฯ ที่มีไว้ให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ ของผู้เช่าแต่ละ
อาคาร โดยไม่มีพนักงานของบริษัทฯ และไม่มีการดำเนินการใด ๆ ของบริษัทในอาคารดังกล่าว เหตุที่
แจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มอาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบการ เนื่องจากได้
รับทราบว่าหากต้องการนำภาษีซื้อของค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ต้องระบุที่อยู่
บนใบกำกับภาษีตามสถานที่ติดตั้งมิเตอร์จริงของแต่ละอาคารมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องแจ้ง
เพิ่มสถานประกอบการ
บริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน ณ สถานประกอบการ
สำนักงานใหญ่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2535
บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. อาคารให้เช่าที่ได้จดแจ้งเป็นสถานประกอบการสาขาที่ 2-36 แล้ว เข้าลักษณะเป็น
สถานประกอบการที่จะต้องแจ้งเพิ่มเป็นสถานประกอบการตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ใช่
สถานประกอบการ ถ้าบริษัทฯ ขอลดสาขาดังกล่าวแล้ว ใบกำกับภาษีซื้อค่าสาธารณูปโภคที่ระบุเลขที่ของ
อาคารให้เช่าดังกล่าว จะสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของ
สำนักงานใหญ่ได้หรือไม่
2. บริษัทฯ ยังคงจำเป็นต้องยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อ ขอเพิ่ม
สถานประกอบการ (สาขา) ตามแบบ ภ.พ.09 สำหรับอาคารให้เช่าที่จะสร้างเพิ่มขึ้นใหม่หรือไม่ และ
ใบกำกับภาษีซื้อค่าสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นโดยระบุเลขที่ของอาคารให้เช่า จะสามารถนำมาหักออกจาก
ภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานใหญ่ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. อาคารให้เช่าของบริษัทฯ ที่มีไว้ให้ผู้อื่นเช่า ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการของ
บริษัทฯ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อขอเพิ่มสถานประกอบการ (สาขา) แต่อย่างใด
2. กรณีที่บริษัทฯ ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับอาคารให้เช่า ถนน
พหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพิ่มเป็นสถานประกอบการสาขาที่ 2-36
แล้วนั้น จึงขอให้บริษัทฯ ไปดำเนินการยื่นแบบแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.09)
ณ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ตั้งอยู่ เพื่อขอยกเลิกการจดแจ้งเป็น
สถานประกอบการของสาขาที่ 2-36 ต่อไป
3. กรณีบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีซื้อสำหรับค่าสาธารณูปโภคของอาคารให้เช่า ซึ่งระบุชื่อ
บริษัทฯ ถูกต้องแต่ระบุที่อยู่ตามเลขที่ของอาคารให้เช่าซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ บริษัทฯ
มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ หรือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการอื่นซึ่งจ่ายค่าสินค้าหรือ
ค่าบริการสาธารณูปโภคได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 15 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็น
แบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2542
เลขตู้: 63/29677
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
http://www.rd.go.th/publish/3568.0.html
คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 86/2542
เรื่อง      หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป

ข้อ 15  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ
                กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีการดำเนินงาน ณ สถานที่อื่นซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ
                กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกต้อง แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ หรือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งอื่นซึ่งจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการ
                ตัวอย่าง
                        (1) บริษัท ก.จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตพญาไท ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่เขตบางพลัด บริษัทฯไม่ได้ใช้พื้นที่ของอาคารที่ให้เช่าเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ณ อาคารที่ให้เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้ เมื่อบริษัทฯเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่า บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
                        (2) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตปลากระป๋อง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตบางซื่อ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง บริษัทฯก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานที่จังหวัดระยองดำเนินงานด้านการก่อสร้างและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา ณ สถานที่ก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้าง บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานที่จังหวัดระยองได้
                        (3) บริษัท ก.จำกัด เช่าสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าซึ่งต้องมีกระแสไฟฟ้าส่องป้าย บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ณ สถานที่เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้

                ข้อ 16....


















วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ภาษีเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบริการซ่อมและค่าอะไหล่

เลขที่หนังสือ: กค 0811/7660
วันที่: 2 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการซ่อมรถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อขาย และมีพนักงานขายของบริษัทฯ เอง
บริษัทฯ มีปัญหาเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. กรณีค่าซ่อมรถ พนักงานขายของบริษัทฯ ได้นำรถยนต์ของบริษัทฯ เข้าซ่อมที่ ต่างจังหวัด
ตามศูนย์บริการของอีซูซุและโตโยต้า เมื่อซ่อมแล้วทางศูนย์บริการออกบิลค่าซ่อมและ ค่าอะไหล่แยก
ออกจากกันแต่เป็นชื่อบริษัทเดียวกัน บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากบิลยอดไหน อย่างไร
2. จากกรณีข้อ 1 ถ้าศูนย์บริการคิดแต่ค่าอะไหล่อย่างเดียว ไม่มีค่าแรง จะต้องหักภาษี ณ
ที่จ่าย อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. การที่บริษัทฯ ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ O และ G ในต่างจังหวัด เมื่อซ่อมแล้ว
ศูนย์บริการได้ออกบิลค่าแรงและค่าอะไหล่แยกออกจากกัน แต่เป็นชื่อบริษัทเดียวกัน กรณีนี้ถือได้ว่า
ศูนย์บริการผู้รับจ้างประกอบกิจการรับจ้างซ่อมรถยนต์ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ เมื่อ
ศูนย์บริการฯ เป็นผู้จัดหาอะไหล่เพื่อใช้สำหรับการซ่อมรถยนต์เอง รายรับของศูนย์บริการฯ จึงต้อง
รวมทั้งค่าแรงและค่าอะไหล่
เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการซ่อมรถยนต์ให้แก่ศูนย์บริการฯ บริษัทฯ จึงมี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของยอดเงินที่จ่ายทั้งที่เป็นค่าแรงและค่าอะไหล่ 
ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตาม
มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2530
2. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าศูนย์บริการฯ เรียกเก็บค่าอะไหล่อย่างเดียว โดยไม่มี
การเรียกเก็บค่าแรงด้วย บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของ
ยอดเงินที่จ่ายทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26
กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 64/30743
-
Cr : http://www.rd.go.th/publish/25352.0.html


------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ: กค 0706/6476 
วันที่: 2 สิงหาคม 2549 
เรื่อง:        การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการซ่อมรถยกสินค้า
ข้อกฎหมาย:       มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       การประกอบกิจการให้บริการซ่อมรถยกสินค้าและขายอะไหล่รถยกสินค้า ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
       1. กรณีการให้บริการซ่อมรถยกสินค้าโดยมีค่าบริการค่าแรงจำนวน 500 บาท ค่าอะไหล่จำนวน 1,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 105 บาท รวมจำนวน 1,605 บาท ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่ จ่าย หรือไม่ อย่างไร
       2. กรณีการให้บริการตรวจสภาพรถยกสินค้าโดยมีค่าอะไหล่จำนวน 1,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 70 บาท รวมจำนวน 1,070 บาท โดยไม่คิดค่าบริการแรงงาน ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากมูลค่าการให้บริการแรงงาน หรือไม
แนววินิจฉัย:       การให้บริการซ่อมรถยกสินค้าและการให้บริการตรวจสภาพรถยกสินค้าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญารับจ้างทำของซึ่งมุ่งผลสำเร็จของงานโดยไม่สามารถแยกค่าอะไหล่กับค่าแรงงานออกจากกัน ดังนั้น หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่ จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528
เลขตู้:69/34395

Cr : http://www.rd.go.th/publish/32689.0.html

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------







วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้ เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย

ความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้
เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
 
          การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นวิธีการจัดเก็บภาษีล่วงหน้าอย่างหนึ่ง โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่ตนจ่ายให้แก่ผู้รับทุกคราวที่มีการจ่ายเงินได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด แล้วจึงนำเงินนั้นส่งรัฐ เงินภาษีที่ได้หักและนำส่งถือเป็นเครดิตภาษีที่ผู้มีเงินได้สามารถนำไปใช้เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีกลางปีหรือสิ้นปีมีผลเท่ากับว่าเสียล่วงหน้าไปแล้ว ก็มีสิทธินำมาเครดิตทันทีเพื่อยื่นรายการ และถ้าปรากฏว่าภาษีที่หักไว้สูงกว่าภาษีที่ต้องชำระเมื่อยื่นรายการ ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอคืน แต่ถ้าภาษีที่หักไว้ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระก็ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม นอกจากนี้ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ยังทำให้เกิดสิทธิที่จะไม่ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ตอนสิ้นปี เช่น กรณีดอกเบี้ย เงินปันผล และเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในบางกรณี     เป็นต้น[1]
สาระสำคัญความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
           ความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
           ประมวลรัษฎากร มาตรา 54 บัญญัติว่า “ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี
           ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักเงินภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว”
           จากบทบัญญัติดังกล่าว กรณีความรับผิดของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณาดังนี้
           1. หน้าที่ของผู้จ่ายเงิน[2] กฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย มีหน้าที่ดังนี้
                   (1) หักภาษีจากเงินที่จ่าย เมื่อจ่ายให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้
                   (2) นำส่งภาษีพร้อมกันการยื่นแบบแสดงรายการ
                   (3) หน้าที่อื่นๆ เช่น ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และใช้เลขประจำตัวภาษี แจ้งข้อความอื่นๆ เกี่ยวกับผู้มีเงินได้
           2. ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกกรณีจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้นำประเมินที่จ่ายและนำส่งเป็นค่าภาษีก่อนเสมอ ไม่ว่าการจ่ายเงินนั้นจะเกิดขึ้นจากคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หรือตามกฎหมาย หรือเหตุอื่นใดก็ตาม หมายความว่า จะอ้างคำสั่งหรือคำบังคับของศาลหรือสิทธิตามกฎหมายหรือเหตุใดๆ เพื่อไม่หักภาษีจากเงินที่จ่ายไม่ได้[3]
           ข้อสังเกต ถ้าเป็นกรณีผู้จ่ายเงินมีข้อตกลงออกภาษีให้ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนโดยไม่ต้องหักภาษีจะนำมาตรา 3 จตุทศ แห่งประมวลรัษฎากร มาอ้างในกรณีไม่ได้[4]
           3. การจ่ายเงินได้ที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดจะมีหลักในการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร
                   (1) กรณีที่จ่ายเป็นเช็ค ต้องหักภาษีตามวันที่ที่ลงในเช็ค ดังนั้น ถ้าเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ควรเขียนยอดสุทธิหลังจากหักภาษีแล้ว พอเช็คถึงกำหนดก็นำภาษีไปส่งได้
                   (2) กรณีที่จ่ายด้วยทรัพย์สิน กฎหมายได้ระบุไว้ว่า “เงินได้พึงประเมิน” หมายความรวมถึง เงินสด ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ ผู้จ่ายต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นเป็น “เงิน” แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย
           4. ถ้าผู้จ่ายเงินได้ไม่ได้หักภาษีจะต้องนำส่งภาษีหรือไม่ กรณีดังกล่าวกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากรว่า “ต้องนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง.....ไม่ว่าตนจะได้หักภาษีไว้แล้วหรือไม่” ดังนั้น ผู้จ่ายเงินต้องนำเงินภาษีไปส่งเสมอ แม้จะไม่ได้หักภาษีไว้หรือหักขาด
           5. ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งอำเภอตามบทบัญญัติดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
                   5.1 ความรับผิดทางแพ่ง
                   กรณีผู้จ่ายเงินได้ต้องร่วมรับผิดกับผู้มีเงินได้
                   (1) กรณีมิได้หักและนำส่งภาษีเลย
                   (2) กรณีหักและนำส่งภาษีไว้ไม่ครบถ้วน
                   ความรับผิดร่วมตามข้อนี้ หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้ต้องร่วมรับผิดกับผู้มีเงินได้ในฐานะลูกหนี้ร่วม กล่าวคือ ถ้าเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ไม่ได้ก็ให้เรียกเก็บจากผู้จ่ายเงินได้ตามจำนวนภาษีที่มิได้หักและหรือหักแล้วแต่นำส่งไม่ครบถ้วน กรณีที่ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เลย หรือหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วน ให้ผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้รับผิดร่วมกันในจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่มิได้หักและมิได้นำส่ง
                   กรณีผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดแต่ผู้เดียว
                   (1) กรณีหักภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้วแต่ไม่นำส่ง
                   (2) กรณีหักภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้วแต่นำส่งไม่ครบถ้วน
                   ความรับผิดตามข้อนี้ หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้จะต้องรับผิดในจำนวนภาษีที่หักไว้แล้วแต่ไม่นำส่งและหรือนำส่งไม่ครบถ้วน สำหรับผู้มีเงินได้จะพ้นความรับผิดในจำนวนเงินภาษีเท่าจำนวนที่ถูกหักไว้ กรณีนี้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนั้นแต่ฝายเดียว
                   กรณีความรับผิดเกี่ยวกับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
                   เงินภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่าย ถ้าไม่หักหรือหักแล้วไม่นำส่งภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันจ่ายเงินหรือภายใน 7 วันนับแต่สิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องนำส่ง แต่เงินเพิ่มดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่นำส่ง
                   ข้อสังเกต กรณีที่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย แม้ต่อมา ผู้เสียภาษีได้นำภาษีไปชำระแล้วก็ตาม ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามาตรา27 แห่งประมวลรัษฎากร
                   ตัวอย่าง กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับเงินเนื่องจากการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรทุกคราวที่มีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้จ่ายเงินไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำเงินส่งกรมสรรพากรต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินที่มิได้หักและนำส่งตามมาตรา 54 อย่างไรก็ดี หากผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้พึงประเมินซึ่งได้รับจากผู้จ่ายเงินและชำระเงินภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว ผู้จ่ายเงินได้จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ภาษีเฉพาะที่เป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักและนำส่งเท่านั้น แต่การที่ผู้จ่ายเงินได้มิได้หักและนำเงินภาษี ณ ที่จ่ายภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (1) ผู้จ่ายเงินได้จึงยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ตามมาตรา 27 โดยการคำนวณเงินเพิ่มนั้น ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดนำส่งภาษีจนถึงวันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีครบถ้วนถูกต้องแล้ว[5]
                   5.2 ความรับผิดทางอาญา


[1] อาภรณ์ นารถดิลก ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ศูนย์ศึกษากฎหมายภาษีอากร มีนาคม 2541 หน้า 3-1
[2]อ้างตามข้อ 1 หน้า 3-3
[3]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2530
[4]อ้างตามข้อ 1 หน้า 3-3
[5]หลักที่ได้จากธงคำตอบข้อสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ. 2558 วิชากฎหมายภาษีอากร ข้อ 7 (ข) สอบวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2559

วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แก่พนักงาน

http://www.rd.go.th/publish/40697.0.html

เลขที่หนังสือ: กค 0702/88
วันที่: 7 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แก่พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี มาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท ท. ประกอบธุรกิจให้เช่าและจำหน่ายเครื่องจักรมือสอง บริษัทฯ ได้ให้พนักงานขายออกไปหาลูกค้า โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวของพนักงานเอง บริษัทฯ จึงคิดเปรียบเทียบว่า หากบริษัทฯ ซื้อรถยนต์มาไว้สำหรับพนักงานขายทุกคน บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบในค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซม ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าทะเบียน และค่าน้ำมัน แต่หากให้พนักงานขายนำรถยนต์ส่วนตัวขอพนักงานมาใช้ และบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามกิโลเมตรที่ใช้ไปจริงในการปฏิบัติงาน จะเป็นการประหยัดต้นทุของบริษัทฯ มากกว่าการที่บริษัทฯ ซื้อรถยนต์เอง บริษัทฯ จะคำนวณค่าตอบแทนจาก 2 ส่วน ได้แก่
           1. คำนวณจากราคาน้ำมัน 1 ลิตร ต่อ 10 กิโลเมตร เช่น น้ำมันดีเซลลิตรละ 36.84 บาท เท่ากับ 3.68 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร และน้ำมันเบนซินลิตรละ 37.99 บาท เท่ากับ 3.80 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร
           2. คำนวณโดยนำผลต่างของราคาระหว่างรถยนต์ใหม่กับรถยนต์ที่ใช้งานแล้ว 100,000 กิโลเมตร และคำนวณออกมาเป็นต่อกิโลเมตร เช่น รถยนต์ใหม่ราคา 600,000 บาท ใช้ไป100,000 กิโลเมตร ราคารถยนต์หลังใช้งานแล้วอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท (คำนวณจากราคาตลาดโดยเฉลี่ย) สรุปว่า มูลค่ารถยนต์ลดลงไป 300,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 3 บาทต่อ 1 กิโลเมตร)
           การคำนวณข้างต้น บริษัทฯ ได้อนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับน้ำมันดีเซล 6.50 บาท ต่อกิโลเมตร และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 7 บาท ต่อกิโลเมตร (ตามราคาน้ำมัน ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2551) ในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว บริษัทฯ ระบุไว้ในระเบียบบริษัทฯ และมีการติดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน พนักงานขายทุกคนจะต้องทำรายงานการเดินทาง โดยให้พนักงานรักษาความปลอดภัย จดเลขกิโลเมตรทั้งไปและกลับ มีการขออนุมัติจากหัวหน้างาน แนบใบเสร็จค่าน้ำมันที่ระบุ เลขทะเบียนรถซึ่งต้องตรงกับที่นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ สามารถนำค่าตอบแทนที่จ่ายไปในกรณีดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน และพนักงานก็ไม่ต้องนำไปถือเป็นรายได้ เพราะเป็นการชดเชยที่พนักงานต้องลงทุนซื้อรถยนต์เพื่อมาใช้ในการปฏิบัติงานและรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์บริษัทฯ ไม่ได้ร่วมรับผิดชอบ บริษัทฯ ถือว่าเป็นอัตราที่ยุติธรรมที่สุดแล้วระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน บริษัทฯ จึงขอทราบว่าถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานของบริษัทฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในกรณีที่พนักงานใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปทำงานให้บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯๆ มีสิทธินำค่าน้ำมันดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิได้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าน้ำมันรถยนต์
           ส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเกินกว่าจำนวนที่พนักงานของบริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีพนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบ ไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมด เพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วย ประกอบกับบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมัน รถยนต์ได้ และมีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ใดถึงที่ใดระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ชัดเจน
เลขตู้: 72/36317

วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ

http://www.rd.go.th/publish/40701.0.html

เลขที่หนังสือ: กค 0702/123
วันที่: 8 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1)(2) มาตรา 48 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           มีลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน โดยบริษัทนายจ้าง ผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้าง ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าจ้างขั้นต่ำ (เป็นเงิน 203 บาทต่อวันต่อคน) มูลนิธิจึงขอทราบ ดังนี้
           1. ลูกจ้างซึ่งมีเงินได้จากค่าจ้างขั้นต่ำ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อัตราใด และจะต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อใด
           2. บุคคลใดเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย           กรณีบุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายหรือไม่ มีเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
           1. กรณีบุคคลธรรมดาดังกล่าว มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 50,000 บาท
                (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 100,000 บาท
                บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนคงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีบุคคลธรรมดาดังกล่าว มีเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 30,000 บาท
                (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 60,000 บาท
                บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมินหักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนคงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยไม่รวมเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินคูณด้วยร้อยละ 0.5 ได้ภาษีจำนวนเท่าใดให้นำไปเปรียบเทียบกับภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีแรก โดยให้เสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินภาษีที่มากกว่า ตาม มาตรา 48 (1) และ (2) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
           3. กรณีบริษัทเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดย การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้เงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินท่าใด ให้หักภาษีไว้จำนวนเท่านั้น
                สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแรกใน ปีภาษีนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551
เลขตู้: 72/36323

---------------------------------------------------------------


https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/926413854076258

คุณ Oa Nonglak (20 เมษายน 2558 เวลา 14:31 น. และ 16:43 น.)
 ปุจฉา: อาจารย์คะ จ่ายค่าแรงคนงานต่างด้าวเช่นพม่า กัมพูชา มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไรค่ะ
ขอเพิ่มเติมค่ะ เป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนตามประกาศ คสช. เป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีใบสำคัญต่างด้าวหรือหนังสือเดินทาง ได้รับเป็นบัตรสีชมพู ใช้ใบนี้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบ ล.ป.10.1 ได้ไหมค่ะ
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของคนงานมีจำนวนไม่มากพอที่จะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพราะเมื่อนำเงินได้พึงประเมินมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยลดหย่อนต่างๆ และยังมีรายการยกเว้นเงินได้สุทธิอีก 150,000 บาท เป็นผลให้ค่าจ้างแรงงานสำหรับคนโสดที่มีเงินได้รายเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้โดยชัดแจ้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานการหักค่าใช้จ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1 ก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนตามประกาศ คสช. เป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีใบสำคัญต่างด้าวหรือหนังสือเดินทาง ได้รับเป็นบัตรสีชมพู ให้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบ ล.ป.10.1 ได้ครับ

วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 62)
เรื่อง    กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

---------------------------------------------

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2521 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายดังต่อไปนี้

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2526

                “ข้อ 2  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สองฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีเกี่ยกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 131 ใช้บังคับสำหรับการเหมาจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป)
                 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความด้านบนแต่ละฉบับดังนี้
                      (1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”
                      (2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน”
                “ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วแต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสารซึ่งผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 146) ใช้บังคับ 6 มกราคม 2548 เป็นต้นไป)
                หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเล่ม จะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้
                การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
                “รายการของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่ง สำหรับรายการประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะระบุเฉพาะประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะไม่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
                ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการหักเงินได้ดังกล่าวเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จะระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้ากองทุนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งก็ได้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)

                “ข้อ 3  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 2 ต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับ ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรืออารบิค”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)

                ข้อ 4  ผู้ใดประสงค์จะทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นอย่างอื่น นอกจากที่กล่าวในข้อ 2 และข้อ 3 ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ให้ปฏิบัติตามนั้นได้

                ข้อ 5  การจ่ายเงินตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่จดแจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามระเบียบของทางราชการแล้ว ให้ยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 2

                ข้อ 6  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539 เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีที่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539

ประกาศ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร


-----------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ: กค 0706/4319
วันที่: 25 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการประทับตราบริษัทในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัทที่นาง ก. ทำงานอยู่ได้มีการตกลงว่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของกับบุคคลต่างๆ ทั้งจากบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการจ่ายเงินค่าจ้าง บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงขอทราบว่า การพิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ มีสิทธิใส่เครื่องหมายตราประทับของบริษัทฯ ลงในแบบฟอร์มและพิมพ์ออกจากเครื่องได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:         การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ดังนั้น หากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิกระทำได้
เลขตู้: 70/34879
---------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณ Siriporn Sak (22 เมษายน 2558 เวลา 13:03 น.)
 ปุจฉา: เรียน อาจารย์สุเทพที่นับถือ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อ 2 (2) การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้
1. กรณีใช้วิธีพิมพ์ชื่อผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย โดยมิได้เป็นการ scan ลายมือชื่อ สามารถกระทำได้หรือไม่
2. กรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าว
- ผู้ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย มีโทษอย่างไร
-ผู้รับหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายสามารถนำหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวไปขอคืนได้หรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในบรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำ...ไว้ดังนี้
“มาตรา 7 บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ”
การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ใช้วิธีการดังต่อไปนี้
1. ลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่”
2. ประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือ
3. พิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. กรณีจะใช้วิธีพิมพ์ชื่อผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย โดยมิได้เป็นการ scan ลายมือชื่อ ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่สามารถกระทำได้
2. บทลงโทษแก่กรณีผู้ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ต่อกระทงความผิด หรือต่อฉบับนั่นเอง
แม้หนังสือรับรองจะมิได้มีการลงลายมือชื่อให้ถูกต้องก็ตาม แต่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ก็ยังคงสามารถนำหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวไปขอคืนได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ผู้จ่ายเงินได้ต้องได้นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้นไว้แล้วตามมาตรา 52 หรือมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา : https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/925832790801031

-------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณ Orapin Orapin (12 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:32 น. จากกรุงเทพมหานคร)
ปุจฉา: อาจารย์คะ
กรณีการลงนามในหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งส่วนใหญ่มอบให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเงิน หนูอ่านจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 62) ระบุว่า "การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในหนังสือรับรองภาษี จะใช้วิธีประทับตราลายมือชื่อด้วยตรายางหรือจะพิมพ์ลายมือชื่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการ scan ลายมือชื่อไว้ก็ได้" หนูเข้าใจว่าไม่ต้องประทับตรานิติบุคคลหากเป็นการมอบหมายให้ฝ่ายการเงินออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้มีอำนาจตามข้อบังคับนิติบุคคล หนูเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ พอดีว่าเจ้าหน้าที่ท้วงติงมาค่ะเลยทำให้หลายคนสับสนว่าที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร และหนังสือรับรองภาษีที่ได้รับมาโดยไม่มีการประทับตราจะใช้ได้หรือไม่
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์
รู้สึกขอบคุณ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539
“ข้อ 2 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สองฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความด้านบนแต่ละฉบับดังนี้
(1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”
(2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน”
ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วแต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสารซึ่งผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย”
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเล่ม จะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้
การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้”
รายการของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่ง สำหรับรายการประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะระบุเฉพาะประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะไม่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการหักเงินได้ดังกล่าวเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จะระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้ากองทุนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งก็ได้”
อนึ่ง ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงลายมือชื้อในรายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องทำยื่นไว้ดังนี้
“มาตรา 7 บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ”
ดังนั้น การลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ไม่ว่าจะเป็นการลงนามโดยกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ หรือเป็นการมอบหมายให้ฝ่ายการเงินออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้มีอำนาจตามข้อบังคับนิติบุคคล จึงไม่ต้องประทับตรานิติบุคคลแต่อย่างใด ก็ถือเป็นการออกหนังสือรับรองการหั้กภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่สมบูรณ์แล้ว


-------------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่ :405097
เรื่อง :หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคลใช้ได้
คำถาม :บริษัทได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้ออกมิได้ประทับตรานิติบุคคลทั้งๆ ที่มีตราประทับนิติบุคคล บริษัทจะนำมาใช้ได้หรือไม่
คำตอบ :สามารถใช้ได้ เนื่องจาก ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในบรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น มิได้บัญญัติให้ประทับตรานิติบุคคล ส่วนการลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)

ที่มา : http://interapp3.rd.go.th/call_center_inter/show/faq1.php?id=405097&caption=6.%20%C0%D2%C9%D5%CB%D1%A1%20%B3%20%B7%D5%E8%A8%E8%D2%C2