วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงินได้

เรื่อง :การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงินได้
คำถาม :บุคคลธรรมดามีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย กรณีใดบ้าง การจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และผู้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ หมายถึงใครบ้าง
คำตอบ :          บุคคลธรรมดามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้
          1. มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(1)(2)(3)(5)(6) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทยหรือเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ และ มาตรา 40(4)(ก)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในไทย
          2. มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1
          3. มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในไทย
          4. ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
              (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิตบุคคลเฉพาะที่เป็นรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5
              (2) นักแสดงสาธารณะ
                    (ก) กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็น นักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในไทย โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พ.ศ.2544 หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10
                    (ข) กรณีนอกจาก (ก) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5
          5. ตามข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ เนื่องจากอธิบดีฯ ยังไม่กำหนดวันใช้บังคับ ดังนั้น ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
          6. ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ที่จ่ายเงินได้เป็นค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบกิจการในไทย โดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5         
          ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ได้แก่บุคคลที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (1) ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
               (2) ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร 
               (3) เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้รับอันเนื่องมาจาก การแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งดำเนินการสร้าง โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 ตามข้อ 2(84) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 289 (พ.ศ.2555))

วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคลใช้ได้

เรื่อง :หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคลใช้ได้
คำถาม :บริษัทได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้ออกมิได้ประทับตรานิติบุคคลทั้งๆ ที่มีตราประทับนิติบุคคล บริษัทจะนำมาใช้ได้หรือไม่
คำตอบ :          สามารถใช้ได้ เนื่องจาก ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในบรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น มิได้บัญญัติให้ประทับตรานิติบุคคล ส่วนการลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ขายสินค้าต่ำกว่าทุน

http://www.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9500000023186

Tax Knowledge:ขายสินค้าต่ำกว่าทุน
26 กุมภาพันธ์ 2550 15:24 น.
       การประกอบธุรกิจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากจะต้องนำรายได้มาคำนวณกำไรสุทธิแล้วก็ต้องนำรายจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธิด้วย ซึ่งรายได้และรายจ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิ 
      
       โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ในกรณีจำเป็นผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิและวิธีการทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
      
       ในการนำรายได้หรือรายจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธินั้นจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินได้มีการคิดค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยหรือไม่ หรือหากมีการคิดค่าตอบแทนแต่ต่ำกว่าท้องตลาดหรือไม่ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน โดยกำหนดไว้ดังนี้
      
        "ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน"
      
        ดังนั้นหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่คิดค่าตอบแทน หรือคิดแต่ต่ำกว่าตลาดเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน ธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการเมื่อมีการดำเนินธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการมักจะมีการกำหนดราคาขายสินค้าหรือให้บริการตามใบราคา (Price List) ซึ่งอาจจะแยกเป็นราคาขายปลีก ขายส่ง ขายผ่านตัวแทน ที่มีราคาขายหรือให้บริการไม่เท่ากัน
      
       แต่มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดอัตราในการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าแต่ละราย ที่ผู้ประกอบการสามารถให้ส่วนลดแก่ลูกค้าได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินหากขายสินค้าหรือให้บริการต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันไม่สมควร อะไรคือเหตุอันสมควร
      
       องค์ประกอบของ "เหตุอันสมควร" จะมีดังนี้
      
       1) ต้องมีเหตุผลทางธุรกิจการค้าสนับสนุนอย่างเพียงพอ
      
       2) ต้องไม่เลือกปฏิบัติกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
      
        บริษัทแห่งหนึ่งประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องเสียงติดรถยนต์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ลำโพง เครื่องเสียง (พาวเวอร์แอมป์) จอภาพขนาดเล็ก อะไหล่เกี่ยวกับเครื่องเสียง เป็นต้น บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจอภาพขนาด 7 นิ้ว จากบริษัท ก จำกัด บริษัทจึงได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัท ข จำกัด และบริษัท ค จำกัด รวมจำนวน 760 ชิ้น เพื่อจะนำมาส่งมอบให้กับบริษัท ก แต่เนื่องจากแผนการตลาดของบริษัท ก เปลี่ยนแปลงไปจึงได้ปฏิเสธการสั่งซื้อสินค้าเป็นเหตุให้บริษัทมีสินค้าคงเหลือค้างสต็อกจำนวน 359 ชิ้น
      
       บริษัทจึงได้ติดต่อขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท (ราคาซื้อหรือราคาต้นทุนชิ้นละ 11,300 บาท) จำนวน 350 ชิ้น เพราะสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว สินค้าที่ขายมีราคาตลาดชิ้นละ 4,200-5,000 บาท นอกจากนี้ บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท ค ราคาชิ้นละ 40 เหรียญสหรัฐ เป็นเงินประมาณ 1,261,160 บาท
      
       เนื่องจากเมื่อบริษัทได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ข และบริษัท ค บริษัททั้งสองได้ผลิตสินค้าเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่บริษัท ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้สั่งทำและนำเข้ามาเพื่อขายให้กับบริษัทโดยตรงไม่สามารถนำไปขายที่อื่นได้ โดยสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญาในกรณีดังกล่าว
      
       การที่บริษัทได้ขายจอภาพติดรถยนต์ขนาด 7 นิ้ว ให้กับบริษัทในเครือเดียวกันอยู่ในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาทุนและราคาตลาด โดยอ้างว่าสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว เข้าลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาด และคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาดตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
      
       เนื่องจากสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงระหว่างบริษัทและบริษัท ค ในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญา ในกรณีดังกล่าวบริษัทจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามข้อตกลงซึ่งได้กระทำนอกเหนือจากสัญญาให้บริษัท ค. การจ่ายเงินชดเชยของบริษัทจึงเป็นการกระทำโดยสมัครใจของบริษัท ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และกรณีที่บริษัทได้ขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันซึ่งอยู่ในต่างประเทศ โดยบริษัทได้ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศ บริษัทจะได้รับสิทธิ์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
      
        ดังนั้นการที่บริษัทได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาดยกเว้นมีเหตุอันสมควร มิฉะนั้นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การโอนทรัพย์สินเข้าบริษัทกับประโยชน์ทางภาษี

https://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9600000054296

การโอนทรัพย์สินเข้าบริษัทกับประโยชน์ทางภาษี :ใครได้ใครเสีย Swap of Assets into a Company : Who Gains, Who Loses

        โดย - ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
       
       ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารชุด เพื่อให้เช่าหรือเพื่อขายมักจะถือครองอสังหาริมทรัพย์ในนามส่วนตัว และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรืออาคารชุดก็มักจะใช้ชื่อบุคคลธรรมดาในการซื้อขาย ซึ่งการขายอสังหาริมทรัพย์โดยบุคคลธรรมดานี้มักจะมีภาระภาษีและค่าธรรมเนียมในการขายต่อให้แก่บุคคลภายนอกที่น้อยกว่าการขายโดยบริษัท
       ทั้งนี้ เนื่องจากในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดให้บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากราคาประเมินของทางราชการโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายจริงหรือราคาตลาด และบุคคลธรรมดายังอาจได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งจัดเก็บในอัตรา 3.3% ของราคาขาย หากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายอีกด้วย
       ตรงกันข้ามกับกรณีที่บริษัทเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามราคาและกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากการขาย และยังต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุที่มักมีการถือครองและซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในนามบุคคลธรรมดา
       อย่างไรก็ดี เจ้าของธุรกิจหลายรายก็นำอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในนามส่วนตัวมาให้เช่ากับบริษัทของตนเองซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีการคิดค่าเช่าระหว่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับธุรกิจ แต่บุคคลส่วนใหญ่มักจะนำทรัพย์สินส่วนตัวนี้ไปปะปนกับธุรกิจและมักจะไม่คิดค่าเช่าจากบริษัทที่ทำธุรกิจเพราะคิดว่าเป็นกระเป๋าเดียวกัน ทำให้หน่วยงานราชการตรวจสอบภาษีบุคคลธรรมดาได้ยาก ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่มีการออกกฎหมายภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ จะเริ่มทำให้มีการปรับโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินโดยใช้บริษัทเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน
       ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือที่ดินแทนบุคคลธรรมดา แต่ก็ยังคงมีการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาให้แก่บริษัทไม่มากนัก เนื่องจากการโอนทรัพย์สินดังกล่าวจะมีภาระภาษีและค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง
       ปัจจุบัน รัฐบาลมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้มากขึ้น แต่เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้กับนิติบุคคลนั้นอาจมีภาระภาษีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลโดยกรมสรรพากรและกระทรวงมหาดไทย จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นรัษฎากรฉบับที่ 630 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร และประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ รวมถึงลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมในการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดลงเหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจในการจะโอนทรัพย์สินเข้าบริษัทต่อไป
       ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการโอนทรัพย์สิน (ซึ่งรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างซึ่งรวมถึงที่ดิน สินค้า หุ้น ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า) ให้แก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น มีรายละเอียดดังนี้
       1. การโอนทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องเป็นการโอนโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กล่าวคือ เป็นการโอนเพื่อชำระค่าหุ้นด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากเงินสด เช่น ที่ดิน หุ้น หรือ สินค้า ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
       2. การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลผู้รับโอนทรัพย์สินและการโอนทรัพย์สินจะต้องกระทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
       3. การโอนทรัพย์สินเพื่อแลกกับหุ้นดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม
       พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 630 โดยมีรายละเอียดดังนี้
       3.1 ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามราคาตลาดจากบุคคลธรรมดาให้แก่บริษัทที่จัดตั้งใหม่ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
       3.2 บุคคลธรรมดาผู้โอนต้องถือหุ้นในนิติบุคคลที่รับโอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอนบุคคลผู้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับโอนทรัพย์สินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอน (กล่าวคือ บุคคลผู้โอนทรัพย์สินจะได้รับหุ้นเป็นจำนวนเท่ากับราคาตลาดของทรัพย์สินที่โอน)
       3.3 บุคคลธรรมดาจะต้องไม่โอนหุ้นของบริษัทอันเกิดจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่บริษัทในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
       3.4 กรณีโอนอสังหาริมทรัพย์ บุคคลผู้โอนและนิติบุคคลผู้รับโอนจะต้องร่วมกันทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัท โดยมีข้อความอย่างน้อยตามเอกสารแนบท้ายของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และบุคคลผู้โอนจะต้องยื่นหนังสือรับรองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านกรมสรรพากรพื้นที่ ของท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนา หรือที่ตั้งสถานประกอบการของผู้โอน หรือในเขตที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
       4. สิทธิประโยชน์ดังกล่าวนี้ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่ผู้โอนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล (ซึ่งผู้ประกอบการต้องดูข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4))
       นอกจากนี้ มาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว ยังได้อนุญาตให้นิติบุคคลผู้รับโอนทรัพย์สิน ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาทและมีรายได้ไม่เกิน 30,000,000 บาทในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มีสิทธิหักรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าเป็นเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน นับแต่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายจากการจัดตั้งนิติบุคคลซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ได้และได้มีการรับรองโดยหุ้นส่วนผู้จัดการหรือมีการให้สัตยาบันโดยที่ประชุมจัดตั้งบริษัท รวมถึงค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
       สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายฉบับนี้ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว โดยการโอนที่ดิน สินค้า หรือหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในนามส่วนตัวจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ส่วนการโอนอสังหาริมทรัพย์จะได้รับสิทธิลดอัตราค่าธรรมเนียมโอนที่ดินเหลือเพียงอัตราร้อยละ 0.01 ทั้งนี้ การโอนทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์จะต้องโอนในราคาตลาด
       สำหรับผู้ที่ในปัจจุบันยังไม่ได้ประกอบธุรกิจ แต่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีไว้ให้เช่าหรือใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ผมมีข้อพิจารณาว่าสมควรจะโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระเป็นค่าหุ้นในบริษัทหรือไม่ ดังนี้
       1. ในกรณีที่ท่านมีความประสงค์จะขายอสังหาริมทรัพย์ต่อไปในอนาคต การโอนในราคาตลาดเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะช่วยเพิ่มต้นทุนหรือมูลค่าหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นให้สะท้อนราคาตลาด ในอนาคตถ้าจะขายสูงกว่าราคาตลาดที่โอนก็จะมีกำไรที่ต้องเสียภาษีน้อยลง เพราะต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจากการโอนให้แก่บริษัทแล้ว (Step up cost) ซึ่งผู้โอนก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่คนที่เสียประโยชน์ก็คือรัฐบาลที่ไม่อาจจะเก็บภาษีจากการขายหุ้นหรือขายทรัพย์สินในอนาคตได้
       2. ปัจจุบัน ถ้าท่านทำธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ การเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดาจะมีภาระภาษีที่มากกว่าการเสียภาษีในนามนิติบุคคล เนื่องจาก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับร้อยละ 20 เมื่อบวกกับ ภาษีเงินปันผลอีกร้อยละ 10 จะได้อัตราภาษีเงินได้สุทธิเพียงร้อยละ 28 ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึงร้อยละ 35 นอกจากนี้ นิติบุคคลยังสามารถหักรายจ่ายได้มากกว่าบุคคลธรรมดาอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาษีทรัพย์สิน ทั้งนี้ แม้การให้เช่าโดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอาจเสียภาษีทรัพย์สินในอัตราที่เท่ากันโดยถือว่าเป็นการถือครองอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม แต่ความแตกต่างที่สำคัญคือนิติบุคคลสามารถนำภาษีทรัพย์สินไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่บุคคลธรรมดาจะไม่สามารถนำภาษีทรัพย์สินมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้
       3. ส่วนท่านที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ แต่มีที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหรืออาคารชุด หากจะโอนที่ดิน บ้าน หรืออาคารชุดเข้าบริษัทก็จะมีต้นทุนในการทำบัญชียื่นงบดุล และเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในรูปบริษัท และยังอาจมีโอกาสที่จะต้องเสียภาษีทรัพย์สินแบบพาณิชยกรรมในอัตราที่สูงกว่าบ้านที่อยู่อาศัย แต่หากท่านมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ลูกหลานขายทรัพย์สินเหล่านี้เวลาท่านไม่อยู่แล้ว การโอนที่ดิน บ้าน หรืออาคารชุดเข้าบริษัทก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการห้ามขายทรัพย์สินหรือขายหุ้นในบริษัทที่ถือครองทรัพย์สินได้โดยผ่านข้อบังคับของบริษัท ดังนั้น ท่านควรจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ
       4. การโอนที่ดินหรือทรัพย์สินต่างๆ เพื่อแลกหุ้นของบริษัทในราคาตลาดนั้นจะต้องมีการจัดทำรายงานของผู้ประเมินราคาอิสระหรือผู้ประเมินราคาที่ กลต. รับรอง เพื่อบันทึกไว้ในรายงานการประชุมตั้งบริษัทด้วย เอกสารต่างๆ จึงจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง
       5. เมื่อได้มีการโอนที่ดินเข้าบริษัทแล้ว หากท่านยังมีบริษัทที่ถือครองที่ดินอีกหลายบริษัท ในอนาคตก็สามารถควบบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกันได้โดยไม่มีภาระภาษีทั้งในระดับผู้ถือหุ้นและบริษัท อีกทั้ง ยังไม่มีค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน กรณีดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกในการประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไปได้ในอนาคต
       6. นอกจากการขายที่ดินในราคาตลาดต่อไปในอนาคตแล้ว เจ้าของบริษัทก็อาจขายหุ้นในบริษัทแทนการขายที่ดินได้ เนื่องจากการขายที่ดินโดยตรงนั้นจะมีต้นทุนของค่าธรรมเนียมในการโอนในอัตราร้อยละ 2 และภาษีธุรกิจเฉพาะอีกในอัตราร้อยละ 3.3 รวมเป็นต้นทุนประมาณร้อยละ 5.3 แต่หากผู้ขายทรัพย์สินนั้นขายหุ้นในบริษัทแทนการขายที่ดิน ก็จะต้องเสียเพียงอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.1
       7. ประโยชน์ที่รัฐบาลอาจจะได้ในอนาคตคือการทราบราคาตลาดของที่ดินส่วนใหญ่ เนื่องจากการโอนที่ดินของบุคคลธรรมดาเพื่อชำระค่าหุ้นให้บริษัทจะทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลเรื่องอัตราราคาตลาดที่แท้จริงซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถปรับปรุงราคาประเมินให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดได้มากขึ้น หากในอนาคตรัฐบาลมีการแก้ไขกฎหมายเรื่องการขายอสังหาริมทรัพย์โดยบุคคลธรรมดาโดยให้ใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์ในการเสียภาษีก็จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลในอนาคต นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทที่ถือครองทรัพย์สินเพื่อให้เช่าจะต้องทำบัญชีรายได้และรายจ่าย รัฐบาลจึงอาจจัดเก็บภาษีเงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้ง่ายขึ้นและเป็นจำนวนมากขึ้น
       8. มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ การโอนชำระค่าหุ้นของบริษัทใหม่นั้น นอกจากอสังหาริมทรัพย์แล้วบุคคลยังสามารถโอนหุ้นหรือสินค้าของตนเพื่อชำระเป็นทุนของบริษัทใหม่ได้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการวางแผนภาษีมรดก โดยการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดาให้แก่บริษัทที่ถือครองทรัพย์สินที่เรียกว่าบริษัทโฮลดิ้งหรือบริษัทประกอบการก็ได้ โดยไม่มีต้นทุนทางภาษี
       เวลาที่เหลือนับจากนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นเวลาที่ผู้ประสงค์จะดำเนินการต้องเร่งรีบตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เหมาะสม และหาที่ปรึกษาเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ประเมินราคาและโอนทรัพย์สินให้ทันตามเวลาที่กำหนดเพื่อประโยชน์ในอนาคตครับ