วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แก่พนักงาน

http://www.rd.go.th/publish/40697.0.html

เลขที่หนังสือ: กค 0702/88
วันที่: 7 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แก่พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี มาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท ท. ประกอบธุรกิจให้เช่าและจำหน่ายเครื่องจักรมือสอง บริษัทฯ ได้ให้พนักงานขายออกไปหาลูกค้า โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวของพนักงานเอง บริษัทฯ จึงคิดเปรียบเทียบว่า หากบริษัทฯ ซื้อรถยนต์มาไว้สำหรับพนักงานขายทุกคน บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบในค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซม ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าทะเบียน และค่าน้ำมัน แต่หากให้พนักงานขายนำรถยนต์ส่วนตัวขอพนักงานมาใช้ และบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามกิโลเมตรที่ใช้ไปจริงในการปฏิบัติงาน จะเป็นการประหยัดต้นทุของบริษัทฯ มากกว่าการที่บริษัทฯ ซื้อรถยนต์เอง บริษัทฯ จะคำนวณค่าตอบแทนจาก 2 ส่วน ได้แก่
           1. คำนวณจากราคาน้ำมัน 1 ลิตร ต่อ 10 กิโลเมตร เช่น น้ำมันดีเซลลิตรละ 36.84 บาท เท่ากับ 3.68 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร และน้ำมันเบนซินลิตรละ 37.99 บาท เท่ากับ 3.80 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร
           2. คำนวณโดยนำผลต่างของราคาระหว่างรถยนต์ใหม่กับรถยนต์ที่ใช้งานแล้ว 100,000 กิโลเมตร และคำนวณออกมาเป็นต่อกิโลเมตร เช่น รถยนต์ใหม่ราคา 600,000 บาท ใช้ไป100,000 กิโลเมตร ราคารถยนต์หลังใช้งานแล้วอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท (คำนวณจากราคาตลาดโดยเฉลี่ย) สรุปว่า มูลค่ารถยนต์ลดลงไป 300,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 3 บาทต่อ 1 กิโลเมตร)
           การคำนวณข้างต้น บริษัทฯ ได้อนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับน้ำมันดีเซล 6.50 บาท ต่อกิโลเมตร และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 7 บาท ต่อกิโลเมตร (ตามราคาน้ำมัน ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2551) ในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว บริษัทฯ ระบุไว้ในระเบียบบริษัทฯ และมีการติดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน พนักงานขายทุกคนจะต้องทำรายงานการเดินทาง โดยให้พนักงานรักษาความปลอดภัย จดเลขกิโลเมตรทั้งไปและกลับ มีการขออนุมัติจากหัวหน้างาน แนบใบเสร็จค่าน้ำมันที่ระบุ เลขทะเบียนรถซึ่งต้องตรงกับที่นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ สามารถนำค่าตอบแทนที่จ่ายไปในกรณีดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน และพนักงานก็ไม่ต้องนำไปถือเป็นรายได้ เพราะเป็นการชดเชยที่พนักงานต้องลงทุนซื้อรถยนต์เพื่อมาใช้ในการปฏิบัติงานและรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์บริษัทฯ ไม่ได้ร่วมรับผิดชอบ บริษัทฯ ถือว่าเป็นอัตราที่ยุติธรรมที่สุดแล้วระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน บริษัทฯ จึงขอทราบว่าถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานของบริษัทฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในกรณีที่พนักงานใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปทำงานให้บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯๆ มีสิทธินำค่าน้ำมันดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิได้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าน้ำมันรถยนต์
           ส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเกินกว่าจำนวนที่พนักงานของบริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีพนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบ ไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมด เพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วย ประกอบกับบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมัน รถยนต์ได้ และมีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ใดถึงที่ใดระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ชัดเจน
เลขตู้: 72/36317

วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ

http://www.rd.go.th/publish/40701.0.html

เลขที่หนังสือ: กค 0702/123
วันที่: 8 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ้างแรงงานข้ามชาติ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1)(2) มาตรา 48 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           มีลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน โดยบริษัทนายจ้าง ผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้าง ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากค่าจ้างขั้นต่ำ (เป็นเงิน 203 บาทต่อวันต่อคน) มูลนิธิจึงขอทราบ ดังนี้
           1. ลูกจ้างซึ่งมีเงินได้จากค่าจ้างขั้นต่ำ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อัตราใด และจะต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อใด
           2. บุคคลใดเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย           กรณีบุคคลธรรมดาชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายหรือไม่ มีเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
           1. กรณีบุคคลธรรมดาดังกล่าว มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 50,000 บาท
                (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 100,000 บาท
                บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนคงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีบุคคลธรรมดาดังกล่าว มีเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 30,000 บาท
                (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 60,000 บาท
                บุคคลธรรมดาดังกล่าว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยในการคำนวณภาษี ให้นำเงินได้พึงประเมินหักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยค่าลดหย่อนคงเหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยไม่รวมเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินคูณด้วยร้อยละ 0.5 ได้ภาษีจำนวนเท่าใดให้นำไปเปรียบเทียบกับภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีแรก โดยให้เสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินภาษีที่มากกว่า ตาม มาตรา 48 (1) และ (2) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
           3. กรณีบริษัทเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดย การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ได้เงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินท่าใด ให้หักภาษีไว้จำนวนเท่านั้น
                สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแรกใน ปีภาษีนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551
เลขตู้: 72/36323

---------------------------------------------------------------


https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/926413854076258

คุณ Oa Nonglak (20 เมษายน 2558 เวลา 14:31 น. และ 16:43 น.)
 ปุจฉา: อาจารย์คะ จ่ายค่าแรงคนงานต่างด้าวเช่นพม่า กัมพูชา มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไรค่ะ
ขอเพิ่มเติมค่ะ เป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนตามประกาศ คสช. เป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีใบสำคัญต่างด้าวหรือหนังสือเดินทาง ได้รับเป็นบัตรสีชมพู ใช้ใบนี้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบ ล.ป.10.1 ได้ไหมค่ะ
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของคนงานมีจำนวนไม่มากพอที่จะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพราะเมื่อนำเงินได้พึงประเมินมาคำนวณหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 40 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท แล้วหักด้วยลดหย่อนต่างๆ และยังมีรายการยกเว้นเงินได้สุทธิอีก 150,000 บาท เป็นผลให้ค่าจ้างแรงงานสำหรับคนโสดที่มีเงินได้รายเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้โดยชัดแจ้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานการหักค่าใช้จ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.1 ก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนตามประกาศ คสช. เป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีใบสำคัญต่างด้าวหรือหนังสือเดินทาง ได้รับเป็นบัตรสีชมพู ให้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบ ล.ป.10.1 ได้ครับ