วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ภาษี ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่าเช่า

ที่มา : สรรพากรสาส์น Plus ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 เดือนเมษายน 2553

1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปอย่างเราๆ คงเคยชินแล้วว่าเมื่อจ่ายจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่ใดเราก็ไม่เคยต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นการถูกต้องแล้วเหตุผลคือ
1.1 การจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้านั้น ผลทางกฎหมายคือการจ่ายค่าสินค้า น้ำประปาและค่าไฟฟ้าถือเป็นสินค้าซึ่งกฎหมายปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะเป็นบุคคลธรรมดา ชาวบ้านร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดๆ ก็ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งสิ้น
1.2 การไฟฟ้า ฯ และการประปาฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ขายไฟฟ้าและน้ำประปานั้น เป็นนิติบุคคลที่ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนั้น แม้ผู้จ่ายเงินค่าน้ำค่าไฟจะเป็นหน่วยงานราชการซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อซื้อสินค้า แต่เมื่อชำระค่าน้ำค่าไฟให้แก่การไฟฟ้าฯ หรือการประปา ก็จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้
มีคำถามที่ได้รับอยู่เสมอก็คือ ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า หรือ service apartment ต่างๆ ซึ่งมักจะแยกเก็บค่าน้ำค่าไฟออกจากค่าเช่าหรือค่าบริการทั้งเรียกเก็บตามหน่วยมิเตอร์ หรือเก็บเป็นการเหมา ผู้จ่ายค่าน้ำค่าไฟจะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่??
ขอยืนยันคำตอบเดิมคือ ไม่ว่าผู้ที่ขายน้ำประปาหรือไฟฟ้าจะเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบุคคลธรรมดาซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ผู้ที่จ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้าก็ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นกัน

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไฟฟ้าและน้ำประปานั้นถือเป็น "สินค้า" ตามมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร การขายน้ำประปาและไฟฟ้าจึงเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะเป็นการขายสินค้าไม่ใช่การให้บริการ เพราะมีบางท่านมีความเห็นว่าน้ำประปาและไฟฟ้าเป็นบริการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายไฟฟ้าและน้ำประปาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาตามกฎกระทรวงฉบับที่189 (พ.ศ.2534) ฯ ข้อ 1 ดังนี้ ผู้จ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้าจึงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7ของค่าน้ำหรือค่าไฟฟ้าที่จ่าย มีกรณีที่เป็นปัญหาของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่ได้เป็นผู้ขายไฟฟ้าหรือน้ำประปา แต่มีบุคคลอื่นขอร่วมใช้น้ำประปาหรือไฟฟ้าโดยผู้ประกอบการฯ เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ร่วมนั้น กรณีดังกล่าวก็ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขอใช้น้ำใช้ไฟด้วยเช่นกันเพราะถือเป็นการขายน้ำประปาและไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ได้ เพราะกฎหมายถือเป็นการขายสินค้าตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ใช่การให้บริการ

ก่อนจบขอฝากว่าสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขายน้ำประปาหรือไฟฟ้าต้องนำค่าน้ำค่าไฟฟ้าที่ขายได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนสิ้นปีด้วย อย่าดีใจว่าไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเสียจนลืมนำมารวมคำนวณภาษีตอนสิ้นปี แต่ถ้าเป็นการไฟฟ้าฯ หรือการประปาฯ ซึ่งไม่เข้าลักษณะหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้ จึงไม่ต้องนำค่าน้ำค่าไฟฟ้าที่ขายได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด --------------------------------------------------------------------------------------------- https://www.rd.go.th/43925.html

เลขที่หนังสือ: กค 0702/8593
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ กรณีสัญญาเช่าพื้นที่และให้บริการส่วนกลาง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่ภายในอาคารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า และให้บริการน้ำประปา ไฟฟ้า ก๊าชหุงต้ม และรักษา ความปลอดภัย เป็นต้น แก่ผู้เช่าพื้นที่ภายในอาคาร โดยบริษัทฯ ได้ทำสัญญาแยกเป็น 2 ฉบับ คือ สัญญาเช่าสถานที่ 1 ฉบับ และสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการอีก 1 ฉบับ สัญญาทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้ผู้เช่าพื้นที่เป็นผู้เสียอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร
          บริษัทฯ ขอหารือว่า
          1. กรณีสัญญาเช่าสถานที่ เมื่อผู้เช่าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ ผู้เช่ามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 และสัญญาเช่าดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ใช่หรือไม่
          2. กรณีสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ เมื่อผู้เช่าพื้นที่ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายค่า บริการตามสัญญาให้แก่บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 เนื่องจากเป็นค่าจ้างทำของตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ใช่หรือไม่
          บริษัทฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การให้เช่าห้องในอาคารดังกล่าว หากสัญญาเช่ารายใดมีกำหนดเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น การเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ นำพื้นที่ในอาคารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ออกให้เช่า โดยบริษัทฯ ทำสัญญาแยกเป็น 2 ฉบับ คือสัญญาเช่าสถานที่ และสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ พิจารณาได้ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
               1.1 กรณีสัญญาเช่าสถานที่ ซึ่งบริษัทฯ ได้แบ่งเป็นห้องให้เช่า มีการกำหนดเลขที่ห้องและเนื้อที่โดยชัดเจน โดยบริษัทฯ ได้มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่โดยเด็ดขาด การที่บริษัทฯ ได้กำหนดให้ผู้เช่าเข้าประกอบกิจการในสถานที่เช่าตามวันและเวลา ที่บริษัทฯ กำหนดก็เพื่อความสะดวกแก่การรักษาความปลอดภัยในสถานที่เช่าเท่านั้น มิใช่ข้อจำกัดสิทธิของผู้เช่าแต่อย่างใด อีกทั้ง หากผู้เช่ารายใดมีการทำสัญญาเช่าเกินกว่า 3 ปี บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กรณี ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการเช่าทรัพย์ ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซึ่งเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ ผู้เช่าดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
               1.2 กรณีสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ โดยผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และ เป็นผู้จ่ายค่าบริการตามสัญญาให้แก่บริษัทฯ แยกพิจารณาได้ ดังนี้
               (1) ค่าน้ำประปาและกระแสไฟฟ้า โดยบริษัทฯ เรียกเก็บตามจำนวนที่มีการใช้จริงในแต่ละเดือน เข้าลักษณะเป็นการขาย สินค้าไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษามาตรวัด ผู้จ่ายค่าน้ำประปาและ กระแสไฟฟ้าดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
               (2) การให้บริการพื้นที่ส่วนกลาง เช่น บริการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บริการรักษาความสะอาด บริการห้อง สุขาและน้ำประปา บริการไฟฟ้าและแสงสว่าง เป็นต้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลจ่ายค่าบริการดังกล่าว ผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          2. อากรแสตมป์
               2.1 สัญญาเช่าสถานที่ เข้าลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ผู้ให้เช่าเป็นผู้มีหน้าที่ ต้องเสียอากรแสตมป์ดังกล่าว
               2.2 สัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารตามที่ระบุไว้ใน บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37582


------------------------------------------------------------------------------------------------------

https://www.rd.go.th/23745.html

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.10877
วันที่: 21 ตุลาคม 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา81(1)(ต)
ข้อหารือ: ธนาคาร ก จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่โรงแรม เพื่อใช้ประกอบกิจการของธนาคารฯ ใน
การชำระค่าเช่า โรงแรมได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและธนาคารฯ ได้ชำระมาโดยตลอด ซึ่งธนาคารฯ
เห็นว่า สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก สัญญามี
ลักษณะดังนี้
1. ธนาคารเช่าพื้นที่ต่างหากของโรงแรมซึ่งมิใช่พื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจการโรงแรม
2. ธนาคารมีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนเอง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าทำความสะอาด
3. ธนาคารครอบครองพื้นที่เช่าโดยโรงแรมไม่มีสิทธิเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่จะได้
รับอนุญาตจากธนาคารฯ
ธนาคารฯ จึงขอหารือว่า
1. ลักษณะของสัญญาดังกล่าวถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือไม่
2. หากสัญญาดังกล่าวเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ การที่ธนาคารชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไป
แล้ว ธนาคารฯจะขอคืนได้หรือไม่ หากธนาคารฯ ขอคืนไม่ได้โรงแรมมีสิทธิขอคืนหรือไม่
3. กรณีธนาคารฯ ชำระค่าทำความสะอาดให้โรงแรม ธนาคารฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
หรือไม่
4. กรณีธนาคารฯ ชำระค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยที่ธนาคารฯ ใช้ให้โรงแรม ธนาคารฯ
ในอัตราหน่วยละ 3.50 บาท ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ธนาคารฯ เช่าพื้นที่บริเวณร้านค้าของโรงแรมมีเนื้อที่ประมาณ 64 ตารางเมตร เพื่อ
เป็นสำนักงานของธนาคาร โดยมีการครอบครองพื้นที่เป็นสัดส่วนแยกจากกันในพื้นที่เช่าโรงแรมไม่มีสิทธิ
เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารฯ การรักษาความสะอาดในส่วนพื้นที่เช่าเป็น
หน้าที่ของธนาคารฯ สัญญาดังกล่าวถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโรงแรมเรียกเก็บค่าเช่าจากธนาคารฯ จึงไม่ต้อง
เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. ในกรณีที่โรงแรมเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธนาคารฯ และได้นำไปรวมคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเนื่องจากการเช่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากรดังนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ
แต่เนื่องจากกรณีนี้ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีถือได้ว่าผู้ประกอบการได้ยื่น
แบบแสดงรายการโดยมีภาษีขายเกิน ผู้ประกอบการจึงเป็นผู้มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
3. กรณีธนาคารฯ จ่ายค่าทำความสะอาดให้แก่โรงแรม ถือเป็นการจ้างทำของซึ่งธนาคาร
ฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่
26 กันยายน พ.ศ. 2528 ข้อ 8(2)
4. กรณีธนาคารฯ ชำระค่าไฟฟ้าให้โรงแรมตามจำนวนหน่วยที่ธนาคารฯ ใช้โดยวัดจาก
มิเตอร์ที่โรงแรมติดไว้ กรณีดังกล่าวเป็นการซื้อมาขายไปซึ่งทรัพย์สินอันเป็นสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง ซึ่ง
ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
เลขตู้: 62/28427