วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565

แก้ไขกฏหมายจัดตั้งบริษัทแล้ว มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2566

 

📌📣📣 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว #แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(เรื่องหุ้นส่วนบริษัท)
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 🎯 มีผลบังคับใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ มีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงหลายประการ ดังนี้
1). การยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จากเดิมสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดใด ต้องจดทะเบียน ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนั้นเท่านั้น
2).รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนด ลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท หรือกำหนดค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันตามรูปแบบการทำธุรกรรมก็ได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการผ่านระบบสารสนเทศมากขึ้น
3). บุคคลตั้งแต่ 2 ขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ จากเดิมต้อง 3 คนขึ้นไป
4). หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ หากไม่ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทจำกัดภายใน 3 ปีสิ้นผลทันที จากเดิมที่ไม่มีอายุของการสิ้นผล ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ชื่อบริษัทที่ปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ได้
5). บริษัทใดมีตราประทับต้องประทับตราในใบหุ้นทุกใบ
6). ให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการประชุมกรรมการได้เพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากต้องมาประชุม ณ สถานที่นัดประชุมเท่านั้น
7). ยกเลิกการนำหนังสือเชิญประชุมไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ยกเว้นในกรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ยังต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่
😎. ให้บริษัทจำกัดจ่ายเงินปันผลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย
9). ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการควบบริษัทจากเดิม ก + ข = ค เท่านั้น ต่อไป กำหนดให้บริษัทสามารถควบรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ (1) ควบรวมบริษัทแล้วเกิดเป็นบริษัทใหม่ (ก + ข = ค) และ (2) ควบรวมบริษัทแล้วเหลืออยู่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง (ก + ข = ก หรือ ข) https://fbook.cc/4DNj

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ขายสินค้ามี “ค่าขนส่ง” ผู้ขายขนส่งเองหรือจ้างผู้อื่นขนส่ง

 

เลขที่หนังสือ : กค 0706/3978 
วันที่ : 9 พฤษภาคม 2549 
เรื่อง : ภาษีเงินได้หักที่จ่าย กรณีขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่ง 
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร 

ข้อหารือ : บริษัท ส. จำกัด ประกอบกิจการซื้อมาขายไป ประเภทวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ และเครื่องมือในการก่อสร้าง 
บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าสินค้าพร้อมค่าขนส่งจากลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีแยกรายการค่าสินค้าและค่าขนส่งออกจากกัน แต่ระบุในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกัน เมื่อลูกค้าชำระค่าขนส่ง ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ 

แนววินิจฉัย : กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติ แม้บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีโดยระบุราคาสินค้าและค่าขนส่งแยกออกจากกัน บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้า ซึ่งรวมค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 65 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีที่จ่าย แต่อย่างใด 

เลขตู้ : 69/34171 
--------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ : กค 0811/17066 
วันที่ : 17 ธันวาคม 2541 
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหักที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่ง 
ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 เตรส, มาตรา 79 

ข้อหารือ : บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายชั้นวางสินค้า ตู้เก็บเอกสาร ชิ้นส่วนเกี่ยวกับเหล็ก และอื่นโดยปกติบริษัทฯ จะจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า โดยคิดค่าขนส่งแยกต่างหากจาก ราคาสินค้า ขอทราบว่า บริษัทฯ จะต้องถูกหักภาษีที่จ่ายหรือไม่ 

แนววินิจฉัย : กรณีบริษัท ก. จำกัด เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าและให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย โดยที่บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งอยู่เป็นปกติธุระ ดังนั้น เมื่อมีการขายสินค้าพร้อมทั้ง บริการขนส่งให้ด้วย ไม่ว่าการขนส่งนี้จะใช้ยานพาหนะของตนเองหรือจ้างบุคคลอื่นให้ขนส่งให้ และไม่ว่า จะแยกค่าขนส่งออกจากราคาสินค้าหรือไม่ บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าซึ่งรวมค่าขนส่งมารวมคำนวณ เป็นฐานภาษี สำหรับการขายสินค้าเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และ เมื่อกรณีถือเป็นการขายสินค้าบริษัทฯ จึงไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ที่จ่าย แต่อย่างใด 

เลขตู้ : 61/27350