วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ส่งสุขปีใหม่ให้ "ของขวัญ" อย่างไรจึงจะเสียภาษีได้ถูกต้อง

ช่วงนี้เพลงปีใหม่กระหึ่มไปทุกหนทุกแห่งที่ร่วมเฉลิมฉลองความสุขส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ งานเลี้ยงไม่มีการเลิกลา ตั้งแต่ปลายปี 2558 ก้าวมาถึงต้นปี 2559 เฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน ส่วนมากแล้วช่วงปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติกันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีกันมากก็คือ "การให้ของขวัญ" ทั้งที่เป็นเงิน เป็นเช็คของขวัญ บัตรกำนัล ปฏิทิน สมุดบันทึก หรือให้เป็นสินค้า สิ่งของ หรือ กระเช้าของขวัญ สารพัดวิธีที่แต่ละกิจการนิยมให้แก่ลูกค้า เจ้าหนี้ หรือ ผู้มีอุปการะคุณ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกิจการ ในช่วงหนี้หลายกิจการก็จะมีการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ จัดแข่งขันกีฬาสี ให้รางวัลแก่พนักงานดีเด่น พนักงานที่สร้างชื่อเสียง พนักงานที่มีอายุการทำงานยาวนาน  จริงแล้วการให้ของขวัญเนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณีทำกันมาทุกปี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ “ภาระภาษี” ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่สำคัญมักจะประกอบไปด้วย

ของขวัญหรือของชำร่วยปีใหม่
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องนำภาษีขายไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษี เพื่อคำนวณหาว่า ในแต่ละเดือนต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปไม่ว่าจะมีภาษีที่จะชำระหรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องคำนึงถึงการกระทำต่อไปนี้ถือเป็น “การขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8) ที่กำหนดไว้ดังนี้

(8) " ขาย " หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง
(ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้วหรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
(ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย
(ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
(ง) นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเอง โดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง
(ฉ) มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากัน หรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากัน หรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
(ช) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(9) " สินค้า " หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้าจากเงื่อนไขในมาตรา 77/1(8) คำว่า “ขาย " หมายถึง จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ นั่นหมายความว่า หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีการจำหน่ายหรือขายสินค้า จ่ายหรือเบิกสินค้า หรือ โอนสินค้าของกิจการนำออกไปให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บเงินหรือไม่ก็ตามถือเป็น “การขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกครั้งที่จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และจะต้องเสียภาษีขายด้วย “ราคาตลาด” ณ วันที่จำหน่าย จ่าย  หรือโอนสินค้า ซึ่งคำว่า “สินค้า” ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1(9) ได้หมายถึง

การให้ของขวัญปีใหม่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ทุกครั้งไปหรือไม่?  ประเด็นที่สำคัญตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ได้กำหนดให้ค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามข้อ 2 (6) ที่กำหนดไว้ดังนี้ การให้สิ่งของ หรือ สินค้า หรือ สินทรัพย์ ถือเป็นสินค้าตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำไปเสียภาษีขายเมื่อจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น  หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้มีการนำสิ่งของ สินค้า ไปให้แก่ลูกค้า  ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามถือเป็นการขายต้องเสียภาษีขายเมื่อมีการมอบให้กับลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เว้นแต่การให้ของขวัญหรือของชำร่วยในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็น “เงิน” “บัตรกำนัล” “บัตรของขวัญ” ซึ่งไม่ถือเป็นสินค้าหรือบริการไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

“(6) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญ เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่เป็นปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ของขวัญหรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร”

การให้ของขวัญหรือของชำร่วยปีใหม่หากเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพาร ฉบับที่ 40 ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย หากมีภาษีซื้อเกิดขึ้นกิจการมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อหรือนำไปหักออกจากภาษีขายได้ และเมื่อให้แก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณของกิจการได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีขาย ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขดังนี้

1. ของขวัญหรือของชำร่วยแจกหรือให้เป็นของขวัญเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
2. ของขวัญหรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่
3. ของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป
4. ของขวัญหรือของชำร่วยต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น การแจกหรือให้เป็นของขวัญ ของชำร่วย แก่ลูกค้าจะไม่ต้องถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเป็นตามหลักเกณฑ์ดังนี้
ก. ต้องแจกเนื่องในพิธี หรือ ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
การให้ของขวัญ หรือ ของชำร่วยแก่ลูกค้า จะต้องให้เนื่องในเทศกาล เช่น ปีใหม่ เปิดบริษัท  เปิดโชว์รูมหรือสำนักงาน  แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่
ข. ต้องมีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือ เครื่องหมายการค้าติดอยู่บนของที่ให้ 
ของขวัญหรือของชำร่วยที่แจกให้กับลูกค้าเนื่องในเทศกาลหรือขนบธรรมเนียมจะต้องมีชื่อผู้ประกอบการ เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้าติดอยู่บนของที่ให้มีลักษณะถาวร เช่น พิมพ์หรือพ่นสีลงบนของที่ให้  แต่หากกิจการให้เป็นกระเช้าผลไม้หรือกระเช้าของขวัญให้ติดนามบัตรไว้บนกระเช้าของขวัญที่ให้จะถือเป็น “ค่ารับรอง” ไม่ใช่ของขวัญหรือของชำร่วยที่เป็นการส่งเสริมการขายตามเงื่อนไขดังกล่าว
ค. ต้องเป็นสิ่งที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป
การให้ของขวัญหรือของชำร่วยเนื่องในเทศกาลหรือขนบธรรมเนียมประเพณีจะต้องเป็นของที่ให้ตามประเพณีทางธุรกิจ เช่น ปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) แก้วน้ำ พวงกุญแจ ปากกา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
ง. ต้องมีราคาหรือมูลค่าพอสมควร
การส่งเสริมการขายโดยการให้เป็นของขวัญหรือของชำร่วยจะต้องมีมูลค่าหรือราคา พอสมควรซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีราคาเท่าใด  ต้องเป็นของที่ให้ที่มีราคาควรให้แก่กัน ตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป

สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการให้ของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นกิจการสามารถนำไปขอคืนหรือเครดิตภาษีขายได้ ไม่ต้องห้าม  และเมื่อนำไปมอบเป็นของขวัญหรือของแจกให้กับลูกค้าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ได้รับยกเว้น

ข้อสังเกต การของขวัญหรือของชำร่วยจะต้องเข้าเงื่อนไขครบทั้ง 4 ข้อจึงจะถือเป็น “ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย” หากขาดข้อใดข้อหนึ่งถือเป็นการให้สิ่งของสำหรับ “ค่ารับรอง” ซึ่งทำให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น กิจการต้องนำภาษีซื้อจากค่ารับรองมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เช่น

ซื้อของขวัญมูลค่า1,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม70 บาท
รวมเงิน1,070 บาท

กิจการจะต้องนำค่าของขวัญหรือค่ารับรองดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวน การบันทึกบัญชีจะแสดงไว้ดังนี้

เดบิตค่ารับรอง1,070
เครดิตเงินสด1,070

ดังนั้นมักจะพบว่า การให้ของขวัญหรือของชำร่วยในช่วงเทศกาลปีใหม่มักจะเป็นการให้ในรูปแบบของ “ค่ารับรอง” มากกว่าค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย หลักเกณฑ์ของค่ารับรองที่จะถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ ซึ่งภาษีซื้อไม่มีสิทธิขอคืน อย่างไรก็ดี เมื่อมอบของขวัญหรือของชำระร่วมให้แก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณก็ไม่ต้องเสียภาษีขาย หลักเกณฑ์ค่ารับรองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 มีดังต่อไปนี้

1.   ค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5
2.   ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
3.  ค่ารับรองหรือค่าบริการ ต้อง
(1) เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ
(2) เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ
4.  จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใด ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
5.  ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรอง หรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการเว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร

ข้อสังเกต การให้ของขวัญหรือของชำร่วยหากเป็นค่ารับรอง ซึ่งเป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการนั้น และภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
(ก) ค่ารับรอง หรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรองหรือให้บริการแก่บุคคลใด ๆ และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(ข) ค่าสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการตาม (ก) และบุคคลอื่นกิจการจะต้องนำภาษีซื้อดังกล่าวมาถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของค่ารับรองหรือค่าใช้จ่ายนั้นเนื่องจากไม่มีสิทธิขอคืน แต่นำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และไม่ต้องเสียภาษีขาย

ความแตกต่างระหว่าง “ค่ารับรอง” กับ “ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย”การให้ของขวัญหรือของชำร่วยแก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณนั้น ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังว่า สิ่งของที่ให้นั้นเป็นการให้เพื่อ “การรับรอง” หรือให้เพื่อ “การส่งเสริมการขาย” เนื่องจากภาระภาษีจะมีความแตกต่างกันดังนี
ค่ารับรอง
ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย
1. ภาษีซื้อถือเป็น “ค่าใช้จ่าย”
2. ต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาท
1.. ภาษีซื้อ “ขอคืน” หรือ “เครดิตภาษีขาย” ได้
2. มูลค่าไม่เกินสมควร

สิ่งที่กิจการจะต้องมีการพิจารณาว่า ปีใหม่กิจการจะให้อะไร ระหว่างค่ารับรอง กับค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย เนื่องจากภาระภาษีแตกต่างกันค่อนข้างมาก สรุปได้ดังนี้
ก. หากของขวัญหรือของชำร่วยเป็น “ค่ารับรอง”
ภาษีซื้ออันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการรับรองไม่มีสิทธินำไปขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขาย แต่นำไปถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร และของที่ให้ต้องมีมูลค่าไม่เกินคนละ 2,000 บาท
ข. หากของขวัญหรือของชำร่วยเป็น “ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย”
ภาษีซื้ออันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธินำไปขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขายได้ และของที่ให้กฎหมายใช้คำว่า “มูลค่าไม่เกินสมควร” ซึ่งไม่ได้จำกัดมูลค่าของที่ให้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่พึงให้แก่กันในทางธุรกิจ

การจัดทำรายงานการให้ของขวัญปีใหม่ 
การที่ผู้ประกอบการได้มีการให้ของขวัญปีใหม่แก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณไม่ว่าจะเป็นการให้เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายหรือค่ารับรองก็ตาม กิจการควรจะมีการจัดทำรายงานการให้ของขวัญปีใหม่ประกอบเอกสารในการบันทึกบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานในทางบัญชีและภาษีอากร

ตัวอย่าง
บริษัท ไทยของขวัญปีใหม่ จำกัด
รายงานการให้ของขวัญปีใหม่ สำหรับปี 2559
ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558-10 มกราคม 2559
ของฝ่ายการตลาด
ลำดับชื่อ - นามสกุลบริษัท/หน่วยงานจำนวนมูลค่าหมายเหตุ
1.
2.
3.
4.
5.







นายนิธิ ทองภูเบศ
นายนิวัฒน์ อริยะ
นางกิติฎา  อาภานุชยพันธ์
นายวิเชียร วิจิตอาริยารัน
นายอนันต์ อนันตราวิช







บจก. นานาธุรกิจ - ฝ่ายการตลาด
หจก. เอเอเอ2015 - ผจก.ขาย
นางกิติฎา  อาภานุชยพันธ์
บจก.ไทยไทยไทย-ผจก.ตลาด
บจก.บีซีดีไทยสยาม







1
1
1
1
1







1,300 บาท
1,500 บาม
1,600 บาท
1,400 บาท
1,500 บาม







นาฬิกาปลุก
กระเช้า
ปากกา
กระเช้า
กระเช้า







รวมเงิน
ลงชื่อ.................................ผู้เบิกของขวัญ
แผนก.................................
ลงชื่อ................................ผู้อนุมัติ

การให้ของขวัญปีใหม่แก่พนักงานทุกช่วงเทศกาลปีใหม่แทบทุกกิจการมีการให้ของขวัญแก่พนักงานในช่วงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานดีเด่น พนักงานอยู่นาน พนักงานไม่ขาดงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พนักงาน ที่จะมีความตั้งใจในการทำงานให้แก่กิจการได้อย่างเต็มที่ การที่กิจการมีการให้ของขวัญแก่พนักงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะต้องมีการกำหนดเป็นระเบียบสวัสดิการแก่พนักงานว่า จะมีการให้ของขวัญหรือรางวัลแก่พนักงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ กิจการจึงจะสามารถนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ และหากมีภาษีซื้อย่อมมีสิทธิขอคืนหรือนำไปเครดิตภาษีขายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่กิจการจะต้องระมัดระวังในการให้ของขวัญหรือของรางวัลแก่พนักงานหากกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะถือเป็นการขายต้องเสีย “ภาษีขาย” เมื่อมีการให้ของขวัญหรือของรางวัลแก่พนักงานทั้งนี้ตามมาตรา 77/1(8) ที่กำหนดไว้ว่า" ขาย " หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า โดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้า  ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ตัวอย่าง

บริษัทประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานพาหนะ บริษัทมีข้อบังคับและประกาศจ่ายรางวัลสำหรับพนักงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานติดต่อกันโดยไม่หยุดงาน เช่น ทำงานมา 5 ปี ได้ทองคำหนัก 2 บาท ทำงานมา 4 ปี ได้ทองคำหนัก 1 บาท บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของทองคำที่นำไปแจกเป็นรางวัลแก่พนักงาน และพนักงานจะต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ได้รับไปถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(1) อีกด้วย

จากตัวอย่างข้างต้นนั้นหากกิจการได้มีการซื้อของรางวัลไปให้พนักงานนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ และภาษีซื้อขอคืนได้ ในขณะเดียวกันเมื่อมอบรางวัลให้แก่พนักงานถือเป็นการขายต้องนำส่งภาษีขายเมื่อมีการมอบรางวัลให้แก่พนักงาน และต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ให้แก่พนักงานไปรวมคำนวณกับเงินเดือนค่าจ้างตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากมีภาษีต้องหัก ณ ที่จ่าย กิจการก็ต้องหักและนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปด้วย

การให้ของขวัญหรือรางวัลแก่พนักงานมักจะมีการจัดงานเลี้ยปีใหม่ให้แก่พนักงานไปด้วย ซึ่งสวัสดิการจัดเลี้ยงปีใหม่เพื่อเป็นการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นเงินได้ที่นายจ้างได้ให้จากการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ด้านนายจ้างนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ และพนักงานได้รับยกเว้นไม่ต้องถือเป็นเงินได้

กรณีศึกษา
บริษัท ก. จำกัด ได้จัดสวัสดิการดังต่อไปนี้ให้พนักงานคือ
1. จัดให้มีการพาพนักงานไปพักผ่อนในสถานที่เที่ยวต่างๆ ในประเทศปีละครั้งซึ่งจัดให้กับพนักงานทุกคนเป็นประจำทุกปี
2. จัดเลี้ยงปีใหม่โดยจะมีการจัดงานเลี้ยงให้กับพนักงานเพื่อเป็นการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ปีละครั้งเป็นประจำทุกปี
บริษัทฯจึงหารือว่า สวัสดิการดังกล่าวที่บริษัทฯ ให้กับพนักงานจะต้องนำไปคิดเป็นรายได้ของพนักงานและคำนวณภาษีเพื่อนำส่งหรือไม่ หากต้องนำไปคิดเป็นรายได้จะมีวิธีการคำนวณและการนำส่งภาษีอย่างไร

คำวินิจฉัย
สวัสดิการทั้ง 2 กรณีนั้น ถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สวัสดิการจัดเลี้ยงปีใหม่เพื่อเป็นการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นเงินได้ที่ได้จากการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีบริษัทฯ พาพนักงานไปพักผ่อนในสถานที่เที่ยวต่างๆ  ในประเทศปีละครั้ง พนักงานของบริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร(หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/131 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545)

ข้อมูลจาก : วารสารเอกสารภาษี ฉบับเดือนมกราคม 2559
คอลัมน์ :บทความพิเศษ


เครดิตที่มา : http://www.dst.co.th/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2...%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AF/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8D-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87.html