ช่วงนี้เพลงปีใหม่กระหึ่มไปทุกหนทุกแห่งที่ร่วมเฉลิมฉลองความสุขส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ งานเลี้ยงไม่มีการเลิกลา ตั้งแต่ปลายปี 2558 ก้าวมาถึงต้นปี 2559 เฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน ส่วนมากแล้วช่วงปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติกันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีกันมากก็คือ "การให้ของขวัญ" ทั้งที่เป็นเงิน เป็นเช็คของขวัญ บัตรกำนัล ปฏิทิน สมุดบันทึก หรือให้เป็นสินค้า สิ่งของ หรือ กระเช้าของขวัญ สารพัดวิธีที่แต่ละกิจการนิยมให้แก่ลูกค้า เจ้าหนี้ หรือ ผู้มีอุปการะคุณ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกิจการ ในช่วงหนี้หลายกิจการก็จะมีการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ จัดแข่งขันกีฬาสี ให้รางวัลแก่พนักงานดีเด่น พนักงานที่สร้างชื่อเสียง พนักงานที่มีอายุการทำงานยาวนาน จริงแล้วการให้ของขวัญเนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณีทำกันมาทุกปี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ “ภาระภาษี” ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่สำคัญมักจะประกอบไปด้วย ของขวัญหรือของชำร่วยปีใหม่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องนำภาษีขายไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษี เพื่อคำนวณหาว่า ในแต่ละเดือนต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปไม่ว่าจะมีภาษีที่จะชำระหรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องคำนึงถึงการกระทำต่อไปนี้ถือเป็น “การขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8) ที่กำหนดไว้ดังนี้ (8) " ขาย " หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง (ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้วหรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย (ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร (ง) นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเอง โดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง (ฉ) มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากัน หรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากัน หรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 (ช) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (9) " สินค้า " หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้าจากเงื่อนไขในมาตรา 77/1(8) คำว่า “ขาย " หมายถึง จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ นั่นหมายความว่า หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีการจำหน่ายหรือขายสินค้า จ่ายหรือเบิกสินค้า หรือ โอนสินค้าของกิจการนำออกไปให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บเงินหรือไม่ก็ตามถือเป็น “การขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกครั้งที่จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และจะต้องเสียภาษีขายด้วย “ราคาตลาด” ณ วันที่จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า ซึ่งคำว่า “สินค้า” ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1(9) ได้หมายถึง การให้ของขวัญปีใหม่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ทุกครั้งไปหรือไม่? ประเด็นที่สำคัญตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ได้กำหนดให้ค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามข้อ 2 (6) ที่กำหนดไว้ดังนี้ การให้สิ่งของ หรือ สินค้า หรือ สินทรัพย์ ถือเป็นสินค้าตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำไปเสียภาษีขายเมื่อจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้มีการนำสิ่งของ สินค้า ไปให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามถือเป็นการขายต้องเสียภาษีขายเมื่อมีการมอบให้กับลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เว้นแต่การให้ของขวัญหรือของชำร่วยในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็น “เงิน” “บัตรกำนัล” “บัตรของขวัญ” ซึ่งไม่ถือเป็นสินค้าหรือบริการไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม “(6) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญ เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่เป็นปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ของขวัญหรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร” การให้ของขวัญหรือของชำร่วยปีใหม่หากเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพาร ฉบับที่ 40 ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย หากมีภาษีซื้อเกิดขึ้นกิจการมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อหรือนำไปหักออกจากภาษีขายได้ และเมื่อให้แก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณของกิจการได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีขาย ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขดังนี้ 1. ของขวัญหรือของชำร่วยแจกหรือให้เป็นของขวัญเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี 2. ของขวัญหรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ 3. ของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป 4. ของขวัญหรือของชำร่วยต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น การแจกหรือให้เป็นของขวัญ ของชำร่วย แก่ลูกค้าจะไม่ต้องถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเป็นตามหลักเกณฑ์ดังนี้ ก. ต้องแจกเนื่องในพิธี หรือ ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี การให้ของขวัญ หรือ ของชำร่วยแก่ลูกค้า จะต้องให้เนื่องในเทศกาล เช่น ปีใหม่ เปิดบริษัท เปิดโชว์รูมหรือสำนักงาน แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ข. ต้องมีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือ เครื่องหมายการค้าติดอยู่บนของที่ให้ ของขวัญหรือของชำร่วยที่แจกให้กับลูกค้าเนื่องในเทศกาลหรือขนบธรรมเนียมจะต้องมีชื่อผู้ประกอบการ เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้าติดอยู่บนของที่ให้มีลักษณะถาวร เช่น พิมพ์หรือพ่นสีลงบนของที่ให้ แต่หากกิจการให้เป็นกระเช้าผลไม้หรือกระเช้าของขวัญให้ติดนามบัตรไว้บนกระเช้าของขวัญที่ให้จะถือเป็น “ค่ารับรอง” ไม่ใช่ของขวัญหรือของชำร่วยที่เป็นการส่งเสริมการขายตามเงื่อนไขดังกล่าว ค. ต้องเป็นสิ่งที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป การให้ของขวัญหรือของชำร่วยเนื่องในเทศกาลหรือขนบธรรมเนียมประเพณีจะต้องเป็นของที่ให้ตามประเพณีทางธุรกิจ เช่น ปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) แก้วน้ำ พวงกุญแจ ปากกา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ง. ต้องมีราคาหรือมูลค่าพอสมควร การส่งเสริมการขายโดยการให้เป็นของขวัญหรือของชำร่วยจะต้องมีมูลค่าหรือราคา พอสมควรซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีราคาเท่าใด ต้องเป็นของที่ให้ที่มีราคาควรให้แก่กัน ตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการให้ของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นกิจการสามารถนำไปขอคืนหรือเครดิตภาษีขายได้ ไม่ต้องห้าม และเมื่อนำไปมอบเป็นของขวัญหรือของแจกให้กับลูกค้าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ได้รับยกเว้น ข้อสังเกต การของขวัญหรือของชำร่วยจะต้องเข้าเงื่อนไขครบทั้ง 4 ข้อจึงจะถือเป็น “ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย” หากขาดข้อใดข้อหนึ่งถือเป็นการให้สิ่งของสำหรับ “ค่ารับรอง” ซึ่งทำให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น กิจการต้องนำภาษีซื้อจากค่ารับรองมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เช่น
กิจการจะต้องนำค่าของขวัญหรือค่ารับรองดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวน การบันทึกบัญชีจะแสดงไว้ดังนี้
ดังนั้นมักจะพบว่า การให้ของขวัญหรือของชำร่วยในช่วงเทศกาลปีใหม่มักจะเป็นการให้ในรูปแบบของ “ค่ารับรอง” มากกว่าค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย หลักเกณฑ์ของค่ารับรองที่จะถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ ซึ่งภาษีซื้อไม่มีสิทธิขอคืน อย่างไรก็ดี เมื่อมอบของขวัญหรือของชำระร่วมให้แก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณก็ไม่ต้องเสียภาษีขาย หลักเกณฑ์ค่ารับรองตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 มีดังต่อไปนี้ 1. ค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 2. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย 3. ค่ารับรองหรือค่าบริการ ต้อง (1) เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ (2) เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ 4. จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใด ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท 5. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรอง หรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการเว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร ข้อสังเกต การให้ของขวัญหรือของชำร่วยหากเป็นค่ารับรอง ซึ่งเป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการนั้น และภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้ (ก) ค่ารับรอง หรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรองหรือให้บริการแก่บุคคลใด ๆ และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน (ข) ค่าสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการตาม (ก) และบุคคลอื่นกิจการจะต้องนำภาษีซื้อดังกล่าวมาถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของค่ารับรองหรือค่าใช้จ่ายนั้นเนื่องจากไม่มีสิทธิขอคืน แต่นำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และไม่ต้องเสียภาษีขาย ความแตกต่างระหว่าง “ค่ารับรอง” กับ “ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย”การให้ของขวัญหรือของชำร่วยแก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณนั้น ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังว่า สิ่งของที่ให้นั้นเป็นการให้เพื่อ “การรับรอง” หรือให้เพื่อ “การส่งเสริมการขาย” เนื่องจากภาระภาษีจะมีความแตกต่างกันดังนี
สิ่งที่กิจการจะต้องมีการพิจารณาว่า ปีใหม่กิจการจะให้อะไร ระหว่างค่ารับรอง กับค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย เนื่องจากภาระภาษีแตกต่างกันค่อนข้างมาก สรุปได้ดังนี้ ก. หากของขวัญหรือของชำร่วยเป็น “ค่ารับรอง” ภาษีซื้ออันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการรับรองไม่มีสิทธินำไปขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขาย แต่นำไปถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร และของที่ให้ต้องมีมูลค่าไม่เกินคนละ 2,000 บาท ข. หากของขวัญหรือของชำร่วยเป็น “ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย” ภาษีซื้ออันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธินำไปขอคืนหรือนำไปหักออกจากภาษีขายได้ และของที่ให้กฎหมายใช้คำว่า “มูลค่าไม่เกินสมควร” ซึ่งไม่ได้จำกัดมูลค่าของที่ให้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่พึงให้แก่กันในทางธุรกิจ การจัดทำรายงานการให้ของขวัญปีใหม่ การที่ผู้ประกอบการได้มีการให้ของขวัญปีใหม่แก่ลูกค้าหรือผู้มีอุปการะคุณไม่ว่าจะเป็นการให้เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายหรือค่ารับรองก็ตาม กิจการควรจะมีการจัดทำรายงานการให้ของขวัญปีใหม่ประกอบเอกสารในการบันทึกบัญชีเพื่อเป็นหลักฐานในทางบัญชีและภาษีอากร ตัวอย่าง
รวมเงิน
การให้ของขวัญปีใหม่แก่พนักงานทุกช่วงเทศกาลปีใหม่แทบทุกกิจการมีการให้ของขวัญแก่พนักงานในช่วงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานดีเด่น พนักงานอยู่นาน พนักงานไม่ขาดงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พนักงาน ที่จะมีความตั้งใจในการทำงานให้แก่กิจการได้อย่างเต็มที่ การที่กิจการมีการให้ของขวัญแก่พนักงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะต้องมีการกำหนดเป็นระเบียบสวัสดิการแก่พนักงานว่า จะมีการให้ของขวัญหรือรางวัลแก่พนักงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ กิจการจึงจะสามารถนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ และหากมีภาษีซื้อย่อมมีสิทธิขอคืนหรือนำไปเครดิตภาษีขายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่กิจการจะต้องระมัดระวังในการให้ของขวัญหรือของรางวัลแก่พนักงานหากกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะถือเป็นการขายต้องเสีย “ภาษีขาย” เมื่อมีการให้ของขวัญหรือของรางวัลแก่พนักงานทั้งนี้ตามมาตรา 77/1(8) ที่กำหนดไว้ว่า" ขาย " หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า โดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้า ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ตัวอย่าง บริษัทประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานพาหนะ บริษัทมีข้อบังคับและประกาศจ่ายรางวัลสำหรับพนักงานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานติดต่อกันโดยไม่หยุดงาน เช่น ทำงานมา 5 ปี ได้ทองคำหนัก 2 บาท ทำงานมา 4 ปี ได้ทองคำหนัก 1 บาท บริษัทมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของทองคำที่นำไปแจกเป็นรางวัลแก่พนักงาน และพนักงานจะต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ได้รับไปถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(1) อีกด้วย จากตัวอย่างข้างต้นนั้นหากกิจการได้มีการซื้อของรางวัลไปให้พนักงานนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ และภาษีซื้อขอคืนได้ ในขณะเดียวกันเมื่อมอบรางวัลให้แก่พนักงานถือเป็นการขายต้องนำส่งภาษีขายเมื่อมีการมอบรางวัลให้แก่พนักงาน และต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ให้แก่พนักงานไปรวมคำนวณกับเงินเดือนค่าจ้างตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากมีภาษีต้องหัก ณ ที่จ่าย กิจการก็ต้องหักและนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปด้วย การให้ของขวัญหรือรางวัลแก่พนักงานมักจะมีการจัดงานเลี้ยปีใหม่ให้แก่พนักงานไปด้วย ซึ่งสวัสดิการจัดเลี้ยงปีใหม่เพื่อเป็นการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นเงินได้ที่นายจ้างได้ให้จากการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ด้านนายจ้างนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ และพนักงานได้รับยกเว้นไม่ต้องถือเป็นเงินได้ กรณีศึกษา บริษัท ก. จำกัด ได้จัดสวัสดิการดังต่อไปนี้ให้พนักงานคือ 1. จัดให้มีการพาพนักงานไปพักผ่อนในสถานที่เที่ยวต่างๆ ในประเทศปีละครั้งซึ่งจัดให้กับพนักงานทุกคนเป็นประจำทุกปี 2. จัดเลี้ยงปีใหม่โดยจะมีการจัดงานเลี้ยงให้กับพนักงานเพื่อเป็นการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ปีละครั้งเป็นประจำทุกปี บริษัทฯจึงหารือว่า สวัสดิการดังกล่าวที่บริษัทฯ ให้กับพนักงานจะต้องนำไปคิดเป็นรายได้ของพนักงานและคำนวณภาษีเพื่อนำส่งหรือไม่ หากต้องนำไปคิดเป็นรายได้จะมีวิธีการคำนวณและการนำส่งภาษีอย่างไร คำวินิจฉัย สวัสดิการทั้ง 2 กรณีนั้น ถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สวัสดิการจัดเลี้ยงปีใหม่เพื่อเป็นการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นเงินได้ที่ได้จากการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีบริษัทฯ พาพนักงานไปพักผ่อนในสถานที่เที่ยวต่างๆ ในประเทศปีละครั้ง พนักงานของบริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร(หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/131 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545) |
ข้อมูลจาก : วารสารเอกสารภาษี ฉบับเดือนมกราคม 2559
คอลัมน์ :บทความพิเศษ
เครดิตที่มา : http://www.dst.co.th/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2...%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AF/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8D-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87.html
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น