วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

เงินได้จากการรับทำงานให้ 
„เงินได้จากการรับทำงานให้หรือรับจ้างทำของ มีข้อแตกต่างกันในการจำแนกประเภทเงินได้ตามประมวลรัษฎากรอย่างไร“

เงินได้จากการรับทำงานให้ 
„มีข้อสงสัยว่า เงินได้จากการรับทำงานให้หรือรับจ้างทำของ มีข้อแตกต่างกันในการจำแนกประเภทเงินได้ตามประมวลรัษฎากรอย่างไร

โดยทั่วไป เงินได้จากการรับทำงานให้ เป็นเงินได้ตามสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายคือ “ผู้ว่าจ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะจ่าย “สินจ้าง” ให้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ (คำนึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ) และผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งนี้ ผู้รับจ้างทำงานให้โดยอาศัยแรงงานเป็นสำคัญมิได้มีการจัดหาสัมภาระ และในการรับทำงานให้ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการรับทำงานดังกล่าวน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เช่น บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจรับฝึกอบรมและสัมมนาให้กับสมาชิก และบุคคลทั่วไป โดยเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นวิทยากร เงินค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้กับวิทยากร ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/4257 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2536)

เงินได้จากการรับทำงานให้ต้องมีลักษณะเป็นเงินได้ที่เป็นผลตอบแทนการใช้แรงงานที่กระทำโดย “บุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ” เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายกำหนดให้เงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก ดังนั้น สำหรับเงินได้จากการรับทำงานให้ซึ่งทำในรูปของธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงอาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบ ธุรกิจ ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กฎหมายกำหนดยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า โดยผู้มีเงินได้อาจเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาก็ได้

นอกจากนี้เงินได้จากการรับทำงานให้ อาจหมายความถึงบำเหน็จหรือค่าตอบแทนจากการเป็นนายหน้าตัวแทนอีกด้วย

อนึ่ง ในส่วนของเงินได้จากการรับจ้างทำของอาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทอื่นได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของที่มาของเงินได้ดังนี้

(1) กรณีเงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้จากการรับทำงานให้เป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้จากการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย (ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท)

(2) กรณีเงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระเป็นปัจจัยในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ อันได้แก่ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม

(3) กรณีเงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้โดยการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับจ้างทำงานให้ นอกจากเครื่องมือมาประกอบการรับทำงานให้นั้นด้วย

(4) กรณีเงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ที่กระทำในรูปธุรกิจที่ผู้มีเงินได้มุ่งหวังผลกำไรและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูง.“


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/391204