วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 62)
เรื่อง    กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

---------------------------------------------

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2521 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายดังต่อไปนี้

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2526

                “ข้อ 2  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สองฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีเกี่ยกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 131 ใช้บังคับสำหรับการเหมาจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป)
                 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความด้านบนแต่ละฉบับดังนี้
                      (1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”
                      (2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน”
                “ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วแต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสารซึ่งผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 146) ใช้บังคับ 6 มกราคม 2548 เป็นต้นไป)
                หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเล่ม จะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้
                การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
                “รายการของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่ง สำหรับรายการประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะระบุเฉพาะประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะไม่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
                ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการหักเงินได้ดังกล่าวเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จะระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้ากองทุนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งก็ได้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)

                “ข้อ 3  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 2 ต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับ ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรืออารบิค”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 100) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)

                ข้อ 4  ผู้ใดประสงค์จะทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นอย่างอื่น นอกจากที่กล่าวในข้อ 2 และข้อ 3 ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ให้ปฏิบัติตามนั้นได้

                ข้อ 5  การจ่ายเงินตามมาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีที่จดแจ้งการหักภาษีไว้ในฎีกาเบิกเงินตามมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามระเบียบของทางราชการแล้ว ให้ยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 2

                ข้อ 6  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539 เป็นต้นไป เว้นแต่กรณีที่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539

ประกาศ ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร


-----------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ: กค 0706/4319
วันที่: 25 เมษายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการประทับตราบริษัทในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัทที่นาง ก. ทำงานอยู่ได้มีการตกลงว่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของกับบุคคลต่างๆ ทั้งจากบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการจ่ายเงินค่าจ้าง บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงขอทราบว่า การพิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ มีสิทธิใส่เครื่องหมายตราประทับของบริษัทฯ ลงในแบบฟอร์มและพิมพ์ออกจากเครื่องได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:         การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ดังนั้น หากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิกระทำได้
เลขตู้: 70/34879
---------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณ Siriporn Sak (22 เมษายน 2558 เวลา 13:03 น.)
 ปุจฉา: เรียน อาจารย์สุเทพที่นับถือ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ข้อ 2 (2) การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้
1. กรณีใช้วิธีพิมพ์ชื่อผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย โดยมิได้เป็นการ scan ลายมือชื่อ สามารถกระทำได้หรือไม่
2. กรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าว
- ผู้ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย มีโทษอย่างไร
-ผู้รับหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายสามารถนำหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวไปขอคืนได้หรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในบรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำ...ไว้ดังนี้
“มาตรา 7 บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ”
การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ใช้วิธีการดังต่อไปนี้
1. ลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่”
2. ประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือ
3. พิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. กรณีจะใช้วิธีพิมพ์ชื่อผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย โดยมิได้เป็นการ scan ลายมือชื่อ ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่สามารถกระทำได้
2. บทลงโทษแก่กรณีผู้ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ต่อกระทงความผิด หรือต่อฉบับนั่นเอง
แม้หนังสือรับรองจะมิได้มีการลงลายมือชื่อให้ถูกต้องก็ตาม แต่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ก็ยังคงสามารถนำหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวไปขอคืนได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ผู้จ่ายเงินได้ต้องได้นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้นไว้แล้วตามมาตรา 52 หรือมาตรา 53 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา : https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/925832790801031

-------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณ Orapin Orapin (12 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:32 น. จากกรุงเทพมหานคร)
ปุจฉา: อาจารย์คะ
กรณีการลงนามในหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งส่วนใหญ่มอบให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเงิน หนูอ่านจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 62) ระบุว่า "การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในหนังสือรับรองภาษี จะใช้วิธีประทับตราลายมือชื่อด้วยตรายางหรือจะพิมพ์ลายมือชื่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการ scan ลายมือชื่อไว้ก็ได้" หนูเข้าใจว่าไม่ต้องประทับตรานิติบุคคลหากเป็นการมอบหมายให้ฝ่ายการเงินออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้มีอำนาจตามข้อบังคับนิติบุคคล หนูเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ พอดีว่าเจ้าหน้าที่ท้วงติงมาค่ะเลยทำให้หลายคนสับสนว่าที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร และหนังสือรับรองภาษีที่ได้รับมาโดยไม่มีการประทับตราจะใช้ได้หรือไม่
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์
รู้สึกขอบคุณ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539
“ข้อ 2 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สองฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความด้านบนแต่ละฉบับดังนี้
(1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”
(2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน”
ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วแต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสารซึ่งผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องลงลายมือชื่อรับรองด้วย”
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเล่ม จะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้
การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้”
รายการของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่ง สำหรับรายการประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะระบุเฉพาะประเภทเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยจะไม่ระบุประเภทเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้
ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้มีการหักเงินได้ดังกล่าวเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จะระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้ากองทุนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งก็ได้”
อนึ่ง ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงลายมือชื้อในรายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องทำยื่นไว้ดังนี้
“มาตรา 7 บรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่นซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องทำยื่นนั้น ให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อ”
ดังนั้น การลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ไม่ว่าจะเป็นการลงนามโดยกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ หรือเป็นการมอบหมายให้ฝ่ายการเงินออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้มีอำนาจตามข้อบังคับนิติบุคคล จึงไม่ต้องประทับตรานิติบุคคลแต่อย่างใด ก็ถือเป็นการออกหนังสือรับรองการหั้กภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่สมบูรณ์แล้ว


-------------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่ :405097
เรื่อง :หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ไม่ได้ประทับตรานิติบุคคลใช้ได้
คำถาม :บริษัทได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้ออกมิได้ประทับตรานิติบุคคลทั้งๆ ที่มีตราประทับนิติบุคคล บริษัทจะนำมาใช้ได้หรือไม่
คำตอบ :สามารถใช้ได้ เนื่องจาก ตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในบรรดารายการ รายงาน หรือเอกสารอื่น มิได้บัญญัติให้ประทับตรานิติบุคคล ส่วนการลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)

ที่มา : http://interapp3.rd.go.th/call_center_inter/show/faq1.php?id=405097&caption=6.%20%C0%D2%C9%D5%CB%D1%A1%20%B3%20%B7%D5%E8%A8%E8%D2%C2

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น