วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อากรแสตมป์

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/464
วันที่: 12 มีนาคม 2541
เรื่อง: อากรแสตมป์ ค่าสินจ้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 104
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างทำของ โดยทำสัญญาจ้างทำของกับลูกค้า 2 กรณี คือ
(1) ระบุมูลค่างานและภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกจากกัน โดยบริษัทฯ ปิดอากรแสตมป์ในสัญญา
คำนวณจากมูลค่างาน ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) รวมมูลค่างานและภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วยกัน โดยบริษัทฯ ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาโดย
คำนวณจากมูลค่างานที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
บริษัทฯ หารือว่า การปิดอากรแสตมป์ในต้นฉบับสัญญาจ้างทำของของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: สัญญาจ้างทำของเป็นตราสารตามลักษณะแห่งตราสาร 4. รับจ้างทำของแห่ง
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้รับจ้างต้องเสียอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือ
เศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมคำนวณด้วย
เลขตู้: 61/26497

http://www.rd.go.th/publish/23006.0.html

เลขที่หนังสือ: กค 0811/16107
วันที่: 25 พฤศจิกายน 2540
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีจำนวนแห่งสินจ้างที่นำมาคำนวณค่าอากรแสตมป์
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: การปิดแสตมป์บริบูรณ์ในสัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ทุกจำนวน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ต่อค่าอากรแสตมป์ 1 บาท จะคำนวณจากสินจ้างที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: สัญญาจ้างทำของเป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยให้คำนวณเฉพาะจากสินจ้างที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 60/26106

http://www.rd.go.th/publish/22898.0.html


วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เปลี่ยนชื่อบริษัท - ใบกำกับภาษี



เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5139
วันที่: 4 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุโลมให้ใช้ใบกำกับภาษีซื้อที่ระบุชื่อเดิมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(2)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ฟ. (บริษัทฯ) จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 เดิมชื่อบริษัท อ.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อต่อกรมทะเบียนการค้า
กระทรวงพาณิชย์เป็นบริษัท บ. และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ฟ.
2. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 คำนวณภาษี
จากภาษีขายหักภาษีซื้อ ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภค ให้บริการต่าง ๆ เช่น บริการไอเย็น
ปรับอากาศ บริการรักษาความสะอาด บริการรักษาความปลอดภัย บริการโทรศัพท์ และให้บริการเช่าตู้
ขายสินค้า ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทและ
สถานประกอบการจากบริษัท บ. เป็นบริษัท ฟ. พร้อมทั้งชำระค่าปรับกรณีแจ้งเปลี่ยนชื่อล่าช้าไว้แล้ว
3. บริษัทฯ ได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 ขออนุโลมให้ใช้ใบกำกับ-ภาษีที่ระบุชื่อ
เดิม (บริษัท บ.) ซึ่งบริษัทฯ ได้รับมาระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยชี้แจงว่าบริษัทฯ ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ฟ.ต่อกรมทะเบียนการค้า
กระทรวง-พาณิชย์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 และแจ้งต่อ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (เดิม)
เปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้าอีกทั้งบริษัทฯ ได้แจ้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ ให้ผู้ขายหรือ
ผู้ให้บริการของบริษัทฯ ทราบล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ออกใบกำกับภาษีตามชื่อใหม่ แต่มีใบกำกับภาษีซื้อที่บริษัทฯ
ได้รับระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2545 จากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ
บางรายยังคงปรากฏชื่อเดิม ซึ่งบริษัทฯ ได้ติดต่อขอให้แก้ไขให้ถูกต้องและแจ้งให้ทราบว่า หากไม่ทำ
การแก้ไขผู้ออกใบกำกับภาษีจะมีโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด แต่มีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบางราย ไม่
สามารถยกเลิกใบกำกับภาษีเดิมและออกใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อใหม่ของบริษัทฯ ได้ เนื่องจากติดขัดใน
ระบบคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการทราบว่าต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่
กรมสรรพากรกำหนด แต่ไม่ได้รับความร่วมมือที่จะแก้ไขใบกำกับภาษีที่ผิดดังกล่าว
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ จากเดิมชื่อบริษัท บ. เปลี่ยนเป็นบริษัท ฟ. โดยแจ้งต่อ
กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 และแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อ สำนักงาน
สรรพากรพื้นที่ (เดิม) วันที่ 31 พฤษภาคม 2545 พร้อมชำระค่าปรับกรณีแจ้งเปลี่ยนแปลงล่าช้า และได้
รับใบกำกับภาษีโดยระบุชื่อเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 254 5 ถึงวันที่ 31
พฤษภาคม 2545 เป็นใบกำกับภาษีที่ได้รับก่อนแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (เดิม)
เป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อถูกต้องตามชื่อที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ไม่เป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ นำ
ภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากชื่อของบริษัทฯ ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2. ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2545 เป็นใบกำกับภาษี
ทีได้รับหลังจากการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (เดิม) แล้ว เป็นใบกำกับภาษีที่ระบุ
ชื่อของบริษัทฯ ไม่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งถือเป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามมิให้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตาม
มาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ออกใบกำกับภาษีมีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000
บาท ตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32464

http://www.rd.go.th/publish/24681.0.html

----------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ
: กค 0706/พ./7749
วันที่
: 15 กันยายน 2548
เรื่อง
: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย
: มาตรา 82/3 มาตรา 86/4(3) มาตรา 82/5(2) และมาตรา 90(12)
ข้อหารือ
: บริษัท ซ. เดิมชื่อบริษัท ก. ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อต่อกระทรวงพาณิชย์ และยื่นแบบ ภ.พ.09 ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่โดยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซ. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 บริษัทฯ แจ้งให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าว่าเอกสารเกี่ยวกับใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีต่าง ๆ ให้ใช้ชื่อบริษัทใหม่ คือ บริษัท ซ. ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป ดังนั้น บริษัท ซ. จึงขอผ่อนผันระยะเวลาการใช้ชื่อเดิมในใบกำกับภาษีระหว่างวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2548 เพื่อใช้ในใบกำกับภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
แนววินิจฉัย

: กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อจากบริษัทเดิมเป็นบริษัท ซ. ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ได้รับในวันที่ 13 มิถุนายน 2548 เป็นใบกำกับภาษีที่ได้รับก่อนการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามชื่อที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้
2. ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ได้รับระหว่างวันที่ 14 และวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่หลังจากบริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อแล้ว เมื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ก็ต้องระบุชื่อของบริษัทฯ ตามที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรเนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องรับผิดตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากบริษัทฯ ร้องขอให้ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยให้ระบุชื่อบริษัทฯ ให้ถูกต้อง บริษัทฯ จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
เลขตู้
: 68/33566



http://www.rd.go.th/publish/30781.0.html

----------------------------------------------------

คุณ Ps Tudtoo Familyhappy (1 กันยายน 2558 เวลา 11:15 น.)
ปุจฉา: เรียนสอบถาม อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ค่ะ
* บริษัทฯ ได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ ** ที่กรมพัฒน์ฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ** ที่กรมสรรพากร เมื่อวันที่ 01 กันยายน 2558
** ขอสอบถามค่ะว่า บริษัทฯ จะยึดวันที่เปลี่ยนแปลงในเอกสารเกี่ยวกับใบกำกับภาษีขายและซื้อ ในวันที่อะไรคะ (พอดีไปดำเนินการที่กรมสรรพากรแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อให้ค่ะ คือให้ไปดำเนินการแก้ไขว่า มีผลตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2558 ค่ะ ทางบริษัทฯ เลยแจ้งไปว่า ได้โทรสอบถาม Call Center สรรพากรแล้ว ทางเจ้าหน้าที่เลยไม่ค่อยพอใจ แต่ก็รับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อให้แต่ก็บ่นๆ ไปว่าทำไมไม่ไปจดกับ Call Center หรือทีมกำกับล่ะ มาจดทำไมกับเค้า แล้วบอกว่าถ้าผิด ก็ไม่รับผิดชอบให้นะ คือ จนท. จะยืนยันให้ได้ว่าให้มีผลตั้งแต่วันที่จดที่กรมพัฒน์ฯ ค่ะ...ทำให้ทางบริษัทฯ สับสนค่ะ ว่าคำตอบไม่ตรงกับทางทีมกำกับดูแล และทาง Call Center ค่ะ) รบกวนอาจารย์ด้วยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
วันที่ที่ถือว่า บริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ให้ถือตามวันที่เจ้าพนักงานที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชยฺ์รับจดแจ้งการเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ อย่างเป็นทางการ คือวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากร ภายใน 15 ว้น นับแต่วันที่ได้ทำการเปลี่ยแปลงชื่อบริษัทฯ นั้นแล้ว ตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"มาตรา 85/6 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในสาระสำคัญซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้าหรือบริการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
การแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการตามวรรคหนึ่ง และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เปลี่ยนแปลงรายการแล้ว ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด"
ดังนั้น ใบกำก้บภาษีขายและใบกำกับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2558 ต้องเป็นชื่อใหม่ของบริษัทฯ มิฉะนั้น บริษัทฯอาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา อาทิ ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ชือไม่ถูกต้อง ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม และเป็นรายจ่ายต้องห้าม กรณีภาษีขายบริษัทฯ ออกใบกำก้บภาษีไม่ถูกต้อง
ปล. จงอย่าเขื่อผมหรือบุคคลใดๆ หากแต่ต้องศึกษากฎหมายให้ได้ความชัดเจนเสียก่อน

Suphot Sumleekaew ประเด็นนี้...ผมเองก็เคยสับสนกับระยะเวลา 15 วันนับแต่การเปลี่ยนแปลง..ช่วงเวลาที่เคว้งคว้าง..หากต้องออกใบกำกับภาษี จะใช้ชื่อใด หรือ หากมีภาษีซื้อจะระบุอย่างไร..สุดท้ายก็ได้คำตอบ..ว่าในข่วงดังกล่าวจงอย่ามีกิจกรรมใดๆเชียว หากจำเป็นต้องมี ควรเร่งดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ก่อนกระทำกิจกรรมนั้นๆ...เช่นเดียวกับกาจด VAT เนื่องจากเกินฐานภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดย่อม (1.8 ล้าน) ภายในสามสิบวัน ข่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็ไม่สามารถขายสินค้า หรือ รับเงินค่าบริการได้ หากกระทำการนั้น..ถือเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น

https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/983608078356835

วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ภาษีเกี่ยวกับพนักงาน

เลขที่ :403312
เรื่อง :ภาษีซื้อ กรณีการจัดงานปีใหม่ และค่าของขวัญพนักงานในวันปีใหม่
คำถาม :ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดงานปีใหม่ และค่าของขวัญพนักงานในวันปีใหม่ เป็นภาษีซื้อต้องห้ามหรือไม่ และค่าของขวัญพนักงานต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
คำตอบ :          ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าจัดงานปีใหม่ ถือเป็นสวัสดิการที่บริษัทมอบให้แก่พนักงาน ย่อมเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัท จึงนำมาหักออกจากภาษีขายได้
          ส่วนภาษีซื้อที่เกิดจากค่าของขวัญพนักงานในวันปีใหม่ เป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัท จึงต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
           อย่างไรก็ดี หากเป็นของขวัญจับสลากในงานเลี้ยงให้แก่พนักงานทุกคนในลักษณะสวัสดิการ โดยไม่เลือกปฏิบัติให้กับพนักงานบางคน ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกับการเลี้ยงพนักงาน จึงถือว่าเป็นประเภทสวัสดิการของพนักงาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทย่อมนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
          ทั้งนี้  ของขวัญจับสลาก ซึ่งเป็นสวัสดิการของพนักงานดังกล่าวนั้น  ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากถือเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษี ตามข้อ 2(10) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542ฯ ​

http://interapp3.rd.go.th/call_center_inter/show/faq1.php?id=403312&caption=3.%20%C0%D2%C9%D5%C1%D9%C5%A4%E8%D2%E0%BE%D4%E8%C1


เลขที่หนังสือ: กค 0706/9052
ลงวันที่: 6 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเครดิตภาษีซื้อของค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆ
มาตรา: มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัทฯ หารือกรณีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ดังต่อไปนี้
        บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
        1. บริษัทฯ ให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลกับพนักงาน
        2. บริษัทฯ ให้ของเยี่ยมไข้เป็นสวัสดิการกับพนักงานในกรณีพนักงานเจ็บป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป
        3. บริษัทฯ เลี้ยงอาหารและจับของรางวัลเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานในวันปีใหม่
แนววินิจฉัย        บริษัทฯ ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลกับพนักงานให้ของเยี่ยมพนักงานผู้เจ็บป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปการเลี้ยงอาหารและจับของรางวัลแก่พนักงานในวันปีใหม่ หากค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการที่บริษัทฯให้แก่พนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนย่อมเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการบริษัทฯมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35269


http://www.rd.go.th/publish/36080.0.html