วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงินได้

เรื่อง :การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้จ่ายเงินได้
คำถาม :บุคคลธรรมดามีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย กรณีใดบ้าง การจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และผู้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ หมายถึงใครบ้าง
คำตอบ :          บุคคลธรรมดามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้
          1. มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(1)(2)(3)(5)(6) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทยหรือเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ และ มาตรา 40(4)(ก)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในไทย
          2. มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1
          3. มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในไทย
          4. ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
              (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิตบุคคลเฉพาะที่เป็นรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5
              (2) นักแสดงสาธารณะ
                    (ก) กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา เว้นแต่นักแสดงสาธารณะที่เป็น นักแสดงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ เฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ในไทย โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พ.ศ.2544 หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 10
                    (ข) กรณีนอกจาก (ก) หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 5
          5. ตามข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ เนื่องจากอธิบดีฯ ยังไม่กำหนดวันใช้บังคับ ดังนั้น ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
          6. ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ที่จ่ายเงินได้เป็นค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบกิจการในไทย โดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5         
          ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ได้แก่บุคคลที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (1) ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
               (2) ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร 
               (3) เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศได้รับอันเนื่องมาจาก การแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งดำเนินการสร้าง โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 ตามข้อ 2(84) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 289 (พ.ศ.2555))

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น