วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568

ใบกำกับภาษี

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.05369
วันที่: 8 มิถุนายน 2542
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ไม่ตรงกับที่ได้จดทะเบียนไว้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4
ข้อหารือ: 1. กรณีใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ที่ผู้ขายออกให้ผู้ซื้อโดยไม่ได้พิมพ์คำว่าแขวง ลงใน
ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ซึ่งไม่ตรงกับ ภ.พ.20 จะใช้เป็นภาษีซื้อในการยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 86/4 (3) ได้หรือไม่
2. กรณีใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ที่ผู้ขายออกให้ผู้ซื้อ พิมพ์รหัสไปรษณีย์ 10110 ลงไป
ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ซึ่งไม่ตรงกับ ภ.พ.20 จะใช้เป็นภาษีซื้อในการยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4 (3) ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีซื้อ ซึ่งระบุที่อยู่ของผู้ซื้อถูกต้อง แต่มิได้ระบุแขวงไว้
เนื่องจากรายการที่อยู่ของผู้ซื้อ ซึ่งระบุไว้ในใบกำกับภาษี สามารถบอกตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดแจ้งถูกต้อง ตามมาตรา 86/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นใบกำกับภาษีซื้อที่นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
2. รหัสไปรษณีย์ไม่ใช่รายการตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ ได้รับ
ใบกำกับภาษีซื้อซึ่งระบุรหัสไปรษณีย์คลาดเคลื่อน บริษัทฯ จึงใช้เป็นใบกำกับภาษีซื้อได้
เลขตู้: 62/27885

 https://www.rd.go.th/23605.html

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3013
วันที่: 19 เมษายน 2543
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขออนุมัติใช้ใบกำกับภาษีที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรพิมพ์เกิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81/5 (2), มาตรา 82/3
ข้อหารือ: บริษัทฯ ขอให้พิจารณาอนุมัติการใช้ใบกำกับภาษี กรณีโรงพิมพ์ได้พิมพ์
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในใบกำกับภาษีเกินไป 1 หมายเลข โดยบริษัทฯ ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 4
สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2542 เริ่มต้นใช้ตั้งแต่เล่มที่ 181 เลขที่ 09001 ถึงเล่มที่ 221
เลขที่ 11049 และบริษัทฯ ได้ยกเลิกใบกำกับภาษีเล่มที่ 221 เลขที่ 11050 ถึงเล่มที่ 230 เลขที่
11500 ในวันที่ 17 กันยายน 2542
แนววินิจฉัย: กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเกินไปหนึ่งหมายเลขถือเป็น
ใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
ตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา82/5(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้รับจึงไม่อาจนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจดทะเบียน
ซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนเมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้
(1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือขีดฆ่า แล้วเก็บ
รวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ
วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ
(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่
แทนฉบับเดิมเลขที่... เล่มที่... และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของ
เดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
ส่วนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่
ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย
เลขตู้: 63/29161

https://www.rd.go.th/23900.html


เลขที่หนังสือ: กค 0811/6268
วันที่: 21 มิถุนายน 2544
เรื่อง: การปัดเศษทศนิยมของภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
ข้อหารือ: กรมศุลกากรแจ้งว่าตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตาม
ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 238) พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ว่า “ให้
ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวด 4 และภาษีธุรกิจเฉพาะในหมวด 5 ของลักษณะ 2
แห่งประมวลรัษฎากร แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี”นั้น กรมศุลกากรจึง
หารือว่า ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมศุลกากร หากมีเศษทศนิยมเกิดขึ้น เศษของบาทควรจะปัด
เป็นหนึ่งบาท หรือควรจะยกเว้นเศษของบาทโดยตัดเศษของบาททิ้ง
แนววินิจฉัย: ผู้นำเข้าเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 ประกอบกับมาตรา 83/8 แห่ง
ประมวลรัษฎากร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่
ผู้นำเข้ามีหน้าที่เสีย ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ
ยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 238) พ.ศ. 2534 ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงไม่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเศษของบาทจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
เลขตู้: 64/30614

https://www.rd.go.th/25395.html



วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

จ่ายค่าโปรแกรม Adobe ให้ประเทศไอร์แลนด์

 Inbox: วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 13:27 น.

คุณ Pijittra Sea *ไม่ประสงค์ออกนาม*
สวัสดีค่ะ อาจารย์
ขอรบกวนสอบถามอาจารย์หน่อยได้ไหมค่ะ จะสอบถามเกี่ยวกับ การจ่ายค่าโปรมแกรม Adobe เป็นการจ่ายเงินไป ตปท. รายเดือน เดือนละประมาณ 3,000 บาท โดยไม่มีสัญญา ต้องนำส่ง ภ.ง.ด. 54 ใช่ไหมค่ะ แต่ผู้ให้บริการไม่ให้หักณที่จ่าย จะต้องบันทึกบัญชีอย่างไรค่ะ ซึ่งถ้าออกแทน ส่วนที่ออกแทนเป็นรายจ่ายบวกกลับหรือเปล่าค่ะ แล้วการคำนวณยื่น ภ.พ. 36 ใช้ยอดไหนยื่นค่ะ
และ เท่าที่หาข้อมูล ภ.ง.ด.54 ค่าโปรแกรมจะเป็นค่าสิทธิ 40 (3) ต้องจ่าย 15% แต่จะมีอนุสัญญาภาษีซ้อน จ่าย 5%
รบกวนอาจารย์หน่อยนะค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
ค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์ วิสัชนา:
1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าค่าบริการโปรแกรม Adobe ไปให้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ ไอร์แลนด์ โดยมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากประเทศไอร์แลนด์ มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามในอัตรา 5% ของเงินได้ที่จ่าย และนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 12 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย - ไอร์แลนด์
2. กรณีบริษัทฯ จ่ายโปรแกรม Adobe (ค่าสิทธิ) เป็นการตอบแทนให้กับบริษัทต่างประเทศในการได้ใช้โปรแกรม เข้าลักษณะเป็น "บริการ" การให้บริการดังกล่าว เป็นการให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่าย ค่าบริการให้กับบริษัทต่างประเทศ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการทั้งหมด ตามมาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ. 36 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายค่าบริการ https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/pfbid0SaF8fE7drznoAvQbD3YJB5VJ1r3ACp79N3xY839EWMVTvHpJ4KWS9mkZcx1YkTsWl

วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566

การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัด

 การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัด

        เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัดให้แก่ผู้ถือหุ้น 
        1. กฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล
            1.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับบริษัทจำกัดที่มิใช่บริษัทมหาชน 

                  การจ่ายเงินปันผล   
                  “มาตรา 1200 การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวน ซึ่งผู้ถือหุ้น ได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ
                  มาตรา 1201 ห้ามมิให้ประกาศอนุญาตเงินปันผล นอกจากโดยมติของที่ประชุมใหญ่ 

                      กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้น ได้เป็นครั้งเป็นคราว ในเมื่อปรากฏแก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้น 

                      ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น 

                      “การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทําภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)  

                  มาตรา 1202 ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุน สำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไร ซึ่งบริษัททำมาหาได้จาก กิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุน ของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
                      ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่ กำหนดไว้ในวรรคก่อน 
                  มาตรา 1203 ถ้าจ่ายเงินปันผลไปโดยฝ่าฝืนความในมาตราทั้งสองซึ่ง กล่าวมาไซร้ เจ้าหนี้ทั้งหลายของบริษัทชอบที่จะเรียกเอาเงินจำนวนซึ่งได้ แจกไปคืนมายังบริษัทได้ แต่ว่าถ้าผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดย สุจริต ท่านว่าจะกลับบังคับให้เขาจำคืนนั้นหาได้ไม่ 
                  "มาตรา 1204 การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ให้บริษัทมีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย” 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ. แก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551) 
                  มาตรา 1205 เงินปันผลนั้น แม้จะค้างจ่ายอยู่ ท่านว่าหาอาจจะคิดเอา ดอกเบี้ยแก่บริษัทได้ไม่” 

                  การประชุมใหญ่ 

                  มาตรา 1175 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

                     คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย  

            1.2 ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด
                  "มาตรา 115 การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรจะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล 
                      เงินปันผลนั้นให้แบ่งตามจำนวนหุ้น หุ้นละเท่าๆ กัน เว้นแต่จะมีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ โดยการจ่ายเงินปันผลต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 
                     เมื่อข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้ทำได้ คณะกรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้นและเมื่อได้จ่ายเงินปันผลแล้ว ให้รายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวต่อไป 
การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือคณะกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ถือหุ้นกับให้โฆษณาคำบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลนั้นในหนังสือพิมพ์ด้วย 
                  มาตรา 116 บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของกำไรสุทธิประจำปีหักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุนจดทะเบียน เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องมีทุนสำรองมากกว่านั้น 
                  มาตรา 117 ในกรณีที่บริษัทยังจำหน่ายหุ้นไม่ครบตามจำนวนที่จดทะเบียนไว้ หรือบริษัทได้จดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว บริษัทจะจ่ายเงินปันผลทั้งหมดหรือบางส่วน โดยออกเป็นหุ้นสามัญใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้ 
                  มาตรา 118 ในกรณีที่บริษัทจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 115 มาตรา 116 หรือมาตรา 117 เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของบริษัทเสียเปรียบ เจ้าหนี้จะฟ้องผู้ถือหุ้นให้คืนเงินปันผลที่ได้รับไปแล้วก็ได้ โดยต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติแต่ผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดยสุจริตจะบังคับให้คืนเงินมิได้ 
                  มาตรา 119 เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว บริษัทจะโอนเงินสำรองอื่นที่มิใช่ทุนสำรองตามมาตรา 51 หรือมาตรา 116 เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัทก็ได้”
          1.3 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 
                เนื่องจากบริษัทจดทะเบีบนในตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลก็ให้เป็นไปเช่นเดียวกับกรณีบริษัทมหาชนจำกัดนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ได้สรุปหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไว้ตามเวบไซต์ดังต่อไปนี้ 
เดรดิต: http://www.set.or.th/…/regul…/files/20130517_Dividend_v2.pdf


        2. ในทางภาษีอากร 
            เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ นั้น มีข้อควรคำนึงดังนี้
            2.1 บริษัทฯ พึงต้องจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมทางบัญชีเท่านั้น กรณีมีผลขาดทุนสะสม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการใดบริษัทฯ ย่อมไม่มีสิทธิจ่ายเงินปันผล ซึ่งในการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องนำจำนวนกำไรทางภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาพิจารณา เว้นแต่เรื่องของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ให้พิจารณาตาม 2.2 


                  บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบคุคลนั้น ต้องจ่ายจากกำไรสะสมในทางบัญชีเท่านั้น ไม่อาจนำกำไรสุทธิในทางภาษีอากรมาจ่ายเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรได้ เนื่องเพราะกำไรสุทธิในทางภาษีอากรมีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษ๊เงินได้นิติบุคคลเท่านั้น 
                  ดังนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงต้องจำแนกกำไรสุทธิที่บันทึกในบัญชีกำไรสะสมให้ชัดแจ้งว่า เป็นกำไรสุทธิที่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 และการใช้สิทธิในเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน 


                   เว้นแต่ การจ่ายเงินปันผลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 

ซึ่งได้รับยกเว้นเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิทางภาษี และเงินปันผลดังกล่าว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ เมื่อบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ดังนี้

                     (1) ต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้จ่าย และผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

                     (2) ต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเท่านั้น

                     (3) กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับการส่งเสริมจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการใด เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ผู้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่านั้น

                    กรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายเงินปันผลโดยมิได้ระบุว่าเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการใด ให้เฉลี่ยเงินปันผลดังกล่าวตามส่วนของกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/5562 ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551 (https://www.rd.go.th/39288.html)

                 
            2.2 ให้จำแนกจำนวนกำไรสะสมที่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี โดยจำแนกเป็น 
                  (1) กำไรสะสมในส่วนที่ไม่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ว่าจะเกิดจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีใดๆ 
                  (2) กำไรสะสมในแต่ละช่วงอัตราภาษี โดยหักจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ ได้ชำระออกไป คงเหลือสุทธิเป็นจำนวนเทาใดในแต่ละขั้นอัตราภาษีเงิน ได้นิติบุคคล 
                  (3) กรณีที่มีรายการปรับปรุงกำไรสุทธิทางภาษีอากรให้มีจำนวนมากกว่ากำไรสุทธิทางบัญชี อาทิ การบวกกลับรายจ่ายต้องห้าม การบวกเพิ่มรายได้ที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด ถือได้ว่าบริษัทฯ ไม่มีจำนวนกำไรสุทธิที่จะนำไปจ่ายเงินปันผลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนนี้ (เท่ากับกิจการต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่ไม่เกิดขึ้นจริง (เสียฟรี) ตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลรัษฎากร)
            2.3 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะกำหนดเลือกจ่ายเงินปันผลจากจำนวนกำไรสะสมที่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราใด ของรอบระยะเวลาบัญชีใดๆ ก็ได้ โดยให้ระบุอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บิรษัทฯ ได้จ่ายชำระไว้ในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ที่จายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) รวมทั้งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 


                 บริษัทฯ มีสิทธิที่จะเลือกจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมก้อนใดก่อนหลังก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามสัดส่วนของกำไรสะสมในแต่ละอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะได้ทราบโดยชัดแจ้งว่า เงินปันผลจากกำไรสุทธิที่บริษัทฯ จะนำมาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น ได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้วในอัตราเท่าใด เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่คำนวณได้จากเงินปันผลที่ได้รับมาจากบริษัทในเครือโดยระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างชัดเจนว่า เงินปันผลที่จ่ายนั้น จำนวนใดมาจากเงินปันผลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใดให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุโลมตามข้อ 3 ของหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/2156 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 


                 เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้จาก “กำไรสุทธิ” นั้น ตามความเข้าใจ คือ รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นสองระดับ คือ 
                 ระดับที่หนึ่ง จึดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอดีตก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ได้เคยจัดเก็บภาษ๊เงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ แต่ในปัจจุบัน โดยทั่วไปจัดเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ หากจะจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าก็เป็นกรณีที่รัฐส่งเสริมกิจการประเภทนั้น เป็นกรณีพิเศษ แม้จะเป็นการจัดเก็บภาษีจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ทว่าในทางความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เสียภาษีเงินได้นิติบคุคล ได้แก่ ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการนั่นเอง 
                ระดับที่สอง จัดเก็บจาก “เงินปันผล” อันเป้นการนำเอากำไรสะสมภายหลังการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยกำหนดให้คำนวณหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผล ซึ่งถือเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้ “ซ้ำซ้อน” โดยถือเป็นความซ้ำซ้อนเชิงเศรษฐกิจ (Economic Double Taxation)
                ประการหนึ่ง รัฐจึงเปิดทางให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ไว้แล้ว ในประการนี้ เท่ากับรัฐได้รับภาษีเงินได้ไปแล้ว 2 ระดับ คือ 20% ของกำไรสุทธิ คงเหลืออีก 80% รัฐจัดเก็บภาษีเงินนได้หัก ณ ที่จายอีก 10% คิดเป็น 8% ของกำไรสุทฺธิ รวมเป็นจำนวนภาษีเงินได้ที่รัฐจัดเก็บไปในกรณีนี้คือ 20% + 8% = 28% ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเพียงพอแล้ว รัฐจึงกำหนดให้เลือกเสียภาษีเงินได้เท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังกล่าว ตามมาตรา 48 (3) แห่งประมวลรัษฎากร (Final Tax) 
                อีกประการหนึ่ง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ รัฐได้บัญญัติมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้เครดิตภาษีแก่ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เพื่อการขจัดความซ้ำซ้อน โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด ดังนี้
                “มาตรา 47 ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด 
                      เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน
                     ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
                     ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้ผู้จ่ายเงินได้รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับคืนเกินไป หรือที่ชำระไว้ไม่ครบ และถ้าผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ไม่ชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าพนักงานประเมิน ให้ถือว่าเงินจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นภาษีอากรค้าง ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้แจ้งผู้มีเงินได้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับเงินที่เหลือนั้นคืนตามกฎหมาย”
                อนึ่ง หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการดังกล่าว เพราะเหตุที่บริษัทฯ ไม่สามารถทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีในอัตราใด บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามส่วนของกำไรหลังจากเสียภาษีในแต่ละอัตราภาษี และจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด ตามข้อ 13 วรรคสองของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545

https://www.taxguruthai.com/topic/122/การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัด

วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566

ถมดิน + ปรับปรุงที่ดิน

 คุณ Weeree Kanjanawaikoon ได้โพสต์ไปในไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” แฟนเพจ เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2556 เวลา 8:26 น. ว่า

“เรียน อาจารย์สุเทพ มีเรื่องรบกวนอยากสอบถามค่ะ บริษัทฯ จะมีการก่อสร้างที่จอดรถในโรงงาน โดยค่าใช้จ่ายประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. ค่าเก็บกวาดวัชพืช ค่าขุดร่องน้ำและวางท่อคอนกรีต
2. ค่าถมดิน หิน และลูกรัง
3. งานทำทางเดินและพื้นคอนกรีต และหลังคา
อยากสอบว่าถ้าบริษัทฯ จะถือว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นต้นทุนของโรงจอดรถ เป็นทรัพย์สินประเภทสิ่งปลูกสร้าง คิดค่าเสื่อมราคา 20 ปี จะถูกต้องหรือไม่ค่ะ
ขอบคุณค่ะ

เรียน คุณ Weeree Kanjanawaikoon
เกี่ยวกับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากรทั้ง 3 รายการข้างต้นนั้น ขอแยกพิจารณาเป็นแต่ละรายการดังนี้
1. ค่าเก็บกวาดวัชพืช ค่าขุดร่องน้ำและวางท่อคอนกรีต
(1) สำหรับรายจ่ายค่าเก็บกวาดวัชพืช โดยทั่วไป ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน มิใช่รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
(2) ส่วนค่าขุดร่องน้ำ และวางท่อคอนกรีต ถือเป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินอื่นที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งยอมให้คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน

2. ค่าถมดิน หิน และลูกรัง อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีที่เป็นการถมดินทั่วไป ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดิน ไม่อาจนำมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้
(2) กรณีที่เป็นการถมเพื่อการทำลานจอดรถในโรงงาน ถือเป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินอื่นที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งยอมให้คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน

3. งานทำทางเดินและพื้นคอนกรีต และหลังคา ถือเป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินอื่นที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งยอมให้คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน เนื่องจากมิได้มีสภาพเป็นอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อาจใช้สิทธิคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน กล่าวคือ ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุน นั้นบริษัทฯ ย่อมมีสิทธิกระทำได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย
https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/photos/a.606417289409251/644139648970348/

--------------------------------------------------------------------------

คุณ GGift Kanya (11 มิถุนายน 2559 เวลา 20:50 น.)
ปุจฉา: เรียน อาจารย์สุเทพ ที่เคารพ
รบกวนสอบถามเรื่องค่าเสื่อมราคากรณีถมดินลงบนที่ดินเช่าค่ะ บริษัทฯ เช่าที่ดินจากบุคคลภายนอกโดยทำสัญญาเช่า 30 ปี โดยหลังจากครบ30 ปีแล้วสัญญาระบุว่า สามารถต่ออายุสัญญาเช่าต่อไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิก โดย ณ วันเลิก ผู้เช่าต้องรื้อถอนหรือยกกรรมสิทธิ์ให้ผู้ให้เช่า ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงกัน ณ วันบอกเลิกสัญญา
คำถาม:
บริษัทผู้เช่าได้ทำการถมที่ดินเพื่อสร้างอาคาร อยากทราบค่าถมดินจะบันทึกบัญชีเป็นส่วนปรับปรุงที่ดินใช่หรือไม่ และ ต้องหักค่าเสื่อมหรือไม่และอัตราเท่าไร เนื่องจากอ่านพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) มาตรา 4 (3)แล้ว สงสัยว่าค่าถมดินถือเป็นต้นทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเช่าหรือไม่คะ และควรหักค่าเสื่อมด้วยอัตราร้อยละ 10 เพราะสัญญาเช่ามีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้ โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้นเปิดโอกาสให้ต่ออายุ การเช่ากันได้ต่อ ๆ ไป ถูกต้องหรือไม่คะ รบกวนตอบข้อสงสัยด้วยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
รายจ่ายในการถมที่ดินที่บริษั่ทฯ ได้เช่ามาโดยมีกำหนดอายุการเช่าเป็นเวลา 30 ปี และต่ออายุการเช่าต่อไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา นั้น
ตามข้อเท็จจริงของบริษัทมีความแตกต่างไปจากเงื่อนไขตามมาตรา 4 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 คือ ตามมาตรา 4 (3) มีข้อกำหนดว่า "กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่า หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้ โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้นเปิดโอกาสให้ต่ออายุการเช่ากันได้ต่อ ๆ ไป" นั้น หมายความว่า ต้องเป็นกรณีที่คู่สัญญาไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุการเช่าใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุสัญญาเบื้องต้นไว้ที่ 30 ปี แล้วจึงค่อยต่ออายุการเช่ากันต่อๆ ไป จึงไม่เข้าตามเงื่อนในในมาตรา 4 (3) แห่งพะราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ดังนั้น รายจ่ายค่าถมที่ ซึ่งเป็นต้นทุนสิทธิการเช่า จึงต้องคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่น้อยกว่า 30 ปี https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/1149596108424697/?locale=th_TH ----------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ: กค 0706/11981
วันที่: 3 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายค่าซ่อมโกดัง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้เช่าโกดัง จัดเก็บสินค้าจำนวน 27 ห้อง เนื่องจากโกดังแต่ละห้องทรุด เพราะลงเสาเข็มไม่พอ บริษัทฯ จึงได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมโดยมีการนำดินถมพื้นให้สูงขึ้นและเทคอนกรีต เพื่อปรับสภาพให้ใช้งานได้เหมือนเดิม ซึ่งผู้รับเหมาตีราคาค่าซ่อมห้องละ 196,000 บาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ค่าใช้จ่ายซ่อมแซมดังกล่าว สามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายในปีนั้น ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีการซ่อมโกดัง เนื่องจากโกดังแต่ละห้องทรุดโดยการเทคอนกรีตให้ใช้งานได้ดังเดิมของบริษัทฯ เป็น การซ่อมแซมโกดังให้คงสภาพเดิมสามารถบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงจ่ายได้ทั้งจำนวน ไม่ถือเป็น รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีค่าถมดินเพื่อปรับพื้นดินให้สูงขึ้นดินที่นำมาถมนั้นเป็นส่วนควบกับที่ดินรายจ่ายดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็น การลงทุนต้องนำมารวมกับมูลค่าที่ดิน จะถือเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้
เลขตู้: 70/35488
https://www.rd.go.th/37198.html

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565

แก้ไขกฏหมายจัดตั้งบริษัทแล้ว มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2566

 

📌📣📣 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว #แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(เรื่องหุ้นส่วนบริษัท)
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 🎯 มีผลบังคับใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ มีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงหลายประการ ดังนี้
1). การยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จากเดิมสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดใด ต้องจดทะเบียน ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนั้นเท่านั้น
2).รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนด ลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท หรือกำหนดค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันตามรูปแบบการทำธุรกรรมก็ได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการผ่านระบบสารสนเทศมากขึ้น
3). บุคคลตั้งแต่ 2 ขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ จากเดิมต้อง 3 คนขึ้นไป
4). หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ หากไม่ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทจำกัดภายใน 3 ปีสิ้นผลทันที จากเดิมที่ไม่มีอายุของการสิ้นผล ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ชื่อบริษัทที่ปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ได้
5). บริษัทใดมีตราประทับต้องประทับตราในใบหุ้นทุกใบ
6). ให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการประชุมกรรมการได้เพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากต้องมาประชุม ณ สถานที่นัดประชุมเท่านั้น
7). ยกเลิกการนำหนังสือเชิญประชุมไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ยกเว้นในกรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ยังต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่
😎. ให้บริษัทจำกัดจ่ายเงินปันผลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย
9). ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการควบบริษัทจากเดิม ก + ข = ค เท่านั้น ต่อไป กำหนดให้บริษัทสามารถควบรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ (1) ควบรวมบริษัทแล้วเกิดเป็นบริษัทใหม่ (ก + ข = ค) และ (2) ควบรวมบริษัทแล้วเหลืออยู่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง (ก + ข = ก หรือ ข) https://fbook.cc/4DNj

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ขายสินค้ามี “ค่าขนส่ง” ผู้ขายขนส่งเองหรือจ้างผู้อื่นขนส่ง

 

เลขที่หนังสือ : กค 0706/3978 
วันที่ : 9 พฤษภาคม 2549 
เรื่อง : ภาษีเงินได้หักที่จ่าย กรณีขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่ง 
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร 

ข้อหารือ : บริษัท ส. จำกัด ประกอบกิจการซื้อมาขายไป ประเภทวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ และเครื่องมือในการก่อสร้าง 
บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บเงินค่าสินค้าพร้อมค่าขนส่งจากลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีแยกรายการค่าสินค้าและค่าขนส่งออกจากกัน แต่ระบุในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกัน เมื่อลูกค้าชำระค่าขนส่ง ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ 

แนววินิจฉัย : กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติ แม้บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีโดยระบุราคาสินค้าและค่าขนส่งแยกออกจากกัน บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้า ซึ่งรวมค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 65 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีที่จ่าย แต่อย่างใด 

เลขตู้ : 69/34171 
--------------------------------------------------------------------------------------------
เลขที่หนังสือ : กค 0811/17066 
วันที่ : 17 ธันวาคม 2541 
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหักที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมให้บริการขนส่ง 
ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 เตรส, มาตรา 79 

ข้อหารือ : บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายชั้นวางสินค้า ตู้เก็บเอกสาร ชิ้นส่วนเกี่ยวกับเหล็ก และอื่นโดยปกติบริษัทฯ จะจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า โดยคิดค่าขนส่งแยกต่างหากจาก ราคาสินค้า ขอทราบว่า บริษัทฯ จะต้องถูกหักภาษีที่จ่ายหรือไม่ 

แนววินิจฉัย : กรณีบริษัท ก. จำกัด เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าและให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย โดยที่บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งอยู่เป็นปกติธุระ ดังนั้น เมื่อมีการขายสินค้าพร้อมทั้ง บริการขนส่งให้ด้วย ไม่ว่าการขนส่งนี้จะใช้ยานพาหนะของตนเองหรือจ้างบุคคลอื่นให้ขนส่งให้ และไม่ว่า จะแยกค่าขนส่งออกจากราคาสินค้าหรือไม่ บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าซึ่งรวมค่าขนส่งมารวมคำนวณ เป็นฐานภาษี สำหรับการขายสินค้าเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และ เมื่อกรณีถือเป็นการขายสินค้าบริษัทฯ จึงไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ที่จ่าย แต่อย่างใด 

เลขตู้ : 61/27350